นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาติดตามนโยบายของจีนด้านการผลิตและการค้าสินค้าเกษตร จากแผนพัฒนาเกษตรขั้นสูงและชนบทสมัยใหม่ (Advance Agricultural and Rural Modernization) ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564 – 2568) แผนพัฒนาเกษตรฯ ฉบับนี้ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูชนบทให้เข้มแข็งอย่างครอบคลุม และกระตุ้นการพัฒนาภาคเกษตรและชนบทให้ทันสมัย
ประกอบด้วยนโยบายสำคัญ อาทิ การเพิ่มอุปทานสินค้าเกษตร และสร้างความมั่นคงทางอาหารของผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มธัญพืช สินค้าปศุสัตว์และประมง การกระจายการนำเข้าและสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานโลกให้มั่นคงในกลุ่มสินค้าเกษตร ได้แก่ ถั่วเหลือง น้ำตาล ฝ้าย ยางธรรมชาติ เมล็ดพืชน้ำมัน และผลิตภัณฑ์นม ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย
การดำเนินนโยบายต่างๆ ของจีนย่อมส่งผลต่อการค้ากับไทย ซึ่งการติดตามนโยบายของจีนจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเตรียมพร้อมปรับตัว นอกจากนี้ ไทยสามารถถอดบทเรียนนโยบายภาคเกษตรจากจีน นำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาภาคเกษตรของไทยได้
แผนพัฒนาเกษตรฯ ฉบับที่ 14 มีเป้าหมายหลัก คือ (1) การผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาปริมาณการผลิตธัญพืชที่ระดับ 650 ล้านตันต่อปี หรือมากกว่า และผลิตเนื้อสัตว์ให้ได้ 89 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2568 (2) การปรับปรุงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ต้องมีบทบาทมากขึ้นในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
และมีสัดส่วนอยู่ในปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัว (Contribution to Growth) ของผลผลิตทางการเกษตร ให้ถึงร้อยละ 64 ภายในปี 2568 (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เพิ่มจำนวนถนนลาดยาง และเพิ่มการเข้าถึงแหล่งน้ำดื่มสาธารณะ (4) การพัฒนาระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อมในชนบทจากการทำเกษตรกรรม ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง และเพิ่มปริมาณการใช้ปุ๋ย
จากมูลสัตว์ (5) เพิ่มรายได้ชาวชนบทให้เติบโตต่อเนื่อง โดยการขยายตัวของรายได้ต่อหัวของคนชนบทต้องสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และ (6) การมุ่งมั่นขจัดความยากจน ติดตามและช่วยเหลือประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้กลับสู่ความยากจน
แผนพัฒนาเกษตรฯ ของจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ประการแรก คือ จีนจะเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเพื่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะธัญพืช และเนื้อสัตว์ กล่าวคือ จีนจะพึ่งพาตนเองมากขึ้นและลดการนำเข้า ทั้งนี้ สินค้าสำคัญในกลุ่มธัญพืช และเนื้อสัตว์ ที่ไทยส่งออกไปจีน ได้แก่ (1) ข้าว (ปี 2563 จีนนําเข้า ข้าวจากไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจากเวียดนาม และเมียนมา) (2) ไก่สดแช่เย็นและแช่แข็ง (ปี 2563 จีนนําเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจากบราซิล และสหรัฐฯ) และ (3) กุ้งสดแช่เย็นและแช่แข็ง (ปี 2563 จีนนําเข้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็งจากไทยเป็น อันดับที่ 7 รองจากเอกวาดอร์ อินเดีย แคนาดา รัสเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย)
ประการที่ 2 จีนจะกระจายการนำเข้า และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานโลกให้มั่นคง ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยบางประเภท เช่น ยางธรรมชาติ ในปี 2563 จีนนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 1 รองลงมา คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ดังนั้น ไทยต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับระดับโลก กระจายตลาดส่งออก และพัฒนายางพาราไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ขณะที่แผนพัฒนาเกษตรฯ ดังกล่าว ก็อาจสร้างโอกาสให้ไทย
โดยสินค้าบางประเภทที่อาจส่งออกไปจีนได้มากขึ้น เช่น น้ำตาลทราย ในปี 2563 จีนนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 7 ยังมีโอกาสที่จะนำเข้าจากไทยได้มากขึ้น และน้ำมันมะพร้าว จีนนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 8 ซึ่งแนวโน้มผู้บริโภคจีนที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ทำให้มีความต้องการน้ำมันมะพร้าวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ไทยสามารถถอดบทเรียนจากแผนพัฒนาเกษตรฯ ฉบับที่ 14 ของจีน นำมาประยุกต์ใช้ ดังนี้ (1) นําโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Model) ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้ในภาคเกษตรอย่างจริงจัง (2) เพิ่มการวิจัยด้านการเกษตรและนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้ประกอบการและเกษตรกร (3) ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจบริการเกี่ยวกับเครื่องจักรกลการเกษตร เกษตรอัจฉริยะ
รวมทั้งการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์และสายพันธุ์พืชและสัตว์ (4) ส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านภาคเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (5) แสวงหาโอกาสจากเส้นทางข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) อาทิ รถไฟลาว-จีน เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ลดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่ง (6) พัฒนาโซ่ความเย็น (Cold Chain) และโลจิสติกส์ทั่วประเทศ ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการขนส่ง รักษาคุณภาพและความปลอดภัย
และรองรับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และ (7) เตรียมพร้อมปรับตัวกรณีที่จีนลดการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยไทยต้องเปลี่ยนจากการส่งออกสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ เพื่อมุ่งส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น สร้างความโดดเด่นให้สินค้าไทยแตกต่าง เร่งพัฒนาปรับปรุงสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดจีน รวมทั้งหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ นอกเหนือจากการพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก
“บทเรียนสำคัญจากจีน คือ การลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญจากต่างประเทศ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างผลผลิตภาคเกษตร ให้สามารถพึ่งพาผลผลิตภายในประเทศได้เพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ตลอดจนความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ จะเห็นถึงผลกระทบที่ตามมา ทั้งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์”
ดังนั้น ไทยต้องพยายามผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญภายในประเทศให้มากขึ้น อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี และถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงพืชอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยปลูกในพื้นที่เหมาะสม และใช้สายพันธุ์ที่มีการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (เช่น ข้าวสาลีสะเมิง)
นอกจากนี้ อาจต้องมีการกำหนดพื้นที่และปริมาณผลผลิตพืชเศรษฐกิจใหม่ให้เหมาะสมกับความต้องการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ตลอดจนมีการเก็บรักษาผลผลิตให้สามารถนำมาใช้ในช่วงฤดูที่มีผลผลิตน้อย (เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไทยผลิตได้น้อยกว่าความต้องการใช้ แต่ประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดบางช่วงเวลา ดังนั้น ต้องมีการเก็บรักษาผลผลิตให้คงคุณภาพได้ยาวนานขึ้น)