นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า มาตรการ 10 มาตรการลดค่าครองชีพล่าสุดนั้นไม่เพียงพอ และมาตรการครอบคลุมเวลาสามเดือนซึ่งสั้นเกินไป
ส่วนใหญ่เป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบจากพลังงานและน้ำมันแพงเป็นหลักตั้งแต่มาตราที่หนึ่งถึงมาตราที่แปดมุ่งไปที่กลุ่มคนรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระมอเตอร์ไซด์รับจ้างและผู้ขับขี่แท็กซี่ แต่ยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบอื่นๆ
ส่วนระยะเวลาของมาตรการอาจสั้นเกิน อย่างต่ำต้อง 6 เดือน เพราะคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่า สงครามยืดเยื้อและผลกระทบจากสงครามระบอบปูตินและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะส่งผลยาวนาน
มาตรการเฉพาะหน้าระยะสั้นรับมือปัญหาได้เพียงชั่วคราว ต้องเน้นไปที่มาตราการแก้ปัญหาเชิงระบบ เช่นต้องดึงแรงงานนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมให้มากที่สุดเพื่อให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึงถ้วนหน้า
ส่วนเรื่องพลังงานก็ต้องลงทุนพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานและน้ำมันนำเข้าลง มียุทธศาสตร์ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ชัดเจน ไฟฟ้าต้องเปิดให้มีการแข่งขันเสรี จะได้ดึงราคาลงมาได้ NGV และราคาน้ำมันดีเซลถึงที่สุดแล้ว อุ้มไม่ไหวต้องปล่อยลอยตัว เพราะอุ้มหรืออุดหนุนแล้วฝืนจะสร้างปัญหามากกว่า จะตามมาด้วยวิกฤติทางการคลังต่อไป
การที่ฐานข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรสวัสดิการคนจนก็ทำให้การใช้งบประมาณตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่ายังมีคนยากจนมากจำนวนหนึ่งที่ยังตกหล่นจากระบบอยู่
ซึ่งก็ต้องปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้ดีขึ้นต่อไป วิธีการที่ดีกว่า ในระยะยาว คือ การขยายฐานสมาชิกผู้ประกันตนระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานอิสระ
และมีระบบสวัสดิการครอบคลุมประชากรตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต บริหารจัดการแบบกระจายอำนาจผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ออกแบบให้ระบบสวัสดิการของรัฐเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า
ส่วนอีกสองมาตรา มาตราที่เก้าและมาตราที่สิบ เป็นการลดภาระการจ่ายสมทบของผู้ประกันตนและผู้ประกอบการซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานะความมั่นคงทางการเงินของกองทุนในอนาคตได้
รัฐบาลไม่ควรใช้มาตราในลักษณะนี้บ่อย ตอนล็อกดาวน์โควิด-19 (Covid-19) ก็ใช้มาตรานี้ เหมือนไปล้วงเงินอนาคตของนายจ้างลูกจ้าง ทั้งที่เงินส่วนนี้ควรจะสบทบสำหรับสวัสดิการในอนาคตของผู้ประกันตน
หากรัฐบาลเดินหน้าใช้มาตรการลดการจ่ายสมทบ รัฐบาลควรต้องจัดสรรงบประมาณชดเชยเท่ากับเงินสมทบที่ลดลง ยืนยันว่า หากยังใช้วิธีการลดการจ่ายสบทบเช่นนี้จะกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของกองทุนชราภาพแน่นอน จะทำให้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยของไทยมีความซับซ้อนขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ดี หากจะก่อหนี้สาธารณะเพิ่มควรต้องมุ่งไปที่การออกมาตรการลดความเสี่ยง สร้างงาน สร้างรายได้ ขยายโอกาสเพิ่ม มาตรการลดความเสี่ยงในบางลักษณะไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ เพียงแค่เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบบางอย่าง เพียงแค่เปิดเสรี ลดอำนาจผูกขาด ขยายเพดานโค้วต้าการนำเข้า ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งแล้ว อย่างเช่น ราคาปุ๋ย ราคาพลังงาน ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กต่างๆ
วัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ เปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้เพียงพอต่อภาวะการขาดแคลนแรงงานในภาคผลิต (ไม่ใช่ปล่อยให้มีการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายด้วยการจ่ายค่าหัวคิวติดสินบนเจ้าหน้าที่)
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ควรศึกษาก่อนซื้อก๊าซและน้ำมันจากรัสเซียได้ส่วนลด 10% สำหรับประเทศเอเชีย อาจช่วยบรรเทาผลกระทบน้ำมันแพงได้เฉพาะหน้า แต่ต้องพิจารณาให้ดีคุ้มกับการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรชาติตะวันตกหรือไม่ มีผลกระทบต่อการมีจุดยืนเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนหรือไม่ และการร่วมรักษาระเบียบโลกและระบบกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ควรดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
ความผันผวนของตลาดการเงิน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ความผันผวนราคาน้ำมันและพลังงาน ทองคำ ทองคำขาว เหล็ก นิกเกิ้ล ในระดับสูงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้น Defensive จ่ายเงินปันผลสูง ทองคำ หรือ ถือเงินสด เป็นต้น
การพยุงตลาดหุ้นรัสเซียของทางการรัสเซียจะไม่สามารถสู้แรงเทขายของตลาดได้เมื่อรัสเซียเปิดให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นได้ หรือ Short Sell ได้คาดว่า ตลาดหุ้นรัสเซียจะปรับฐานลงทันที
นายอนุสรณ์ ยังแสดงความเห็นอีกว่า การประเมินสถานการณ์สงครามระบอบปูตินยูเครนผิดผลาด จะทำให้ประเมินผลกระทบในมิติต่างๆ ไม่ถูกต้อง ผลกระทบบางมิติไม่ได้เป็นผลกระทบที่จะหายไปทันทีหากสงครามยุติ เพราะสงครามรัสเซียโดยระบอบปูตินนี้จะเปลี่ยนแปลงระบบโลกาภิวัตน์ไปไม่เหมือนเดิม จะทำให้ระบบการค้าโลก ระบบการเงิน ระบบการเมืองและความมั่นคงของโลกเปลี่ยนแปลง รัฐไทยควรต้องศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติใหม่ให้สอดคล้องกับโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนไป
จากความเคลื่อนไหวล่าสุดของคู่ความขัดแย้ง คือ ระบอบปูตินแห่งรัสเซีย กับ ยูเครน สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรชาติตะวันตกนั้นประเมินได้ว่า สงครามน่าจะยืดเยื้อและขยายวง รวมทั้ง อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัสเซียได้ ซึ่งอาจใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี เนื่องจากระบอบอำนาจนิยมของปูตินอยู่ในอำนาจมายาวนานร่วม 20 ปี
โดยเฉพาะคำปราศรัยของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน ที่ Royal Castle กรุงวอซอร์ในระหว่างการเยือนชาติพันธมิตรนาโต้ว่า ไม่ต้องการให้ ปูติน อยู่ในอำนาจต่อไป แม้นภายหลังเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯจะออกมาชี้แจงว่า คำพูดดังกล่าวไม่อยู่ในร่างคำปราศรัยที่เป็นทางการแต่อย่างใด และ พยายามชี้แจ้งว่า ไม่ได้หมายความว่า ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลระบอบการปกครองในรัสเซียแต่อย่างใด
และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ โทนี บริงเคน ได้กล่าวไว้ว่า เป็นเรื่องของประชาชนชาวรัสเซียตัดสินใจเลือกเองว่าจะให้ใครเป็นผู้นำ ส่วนการคำปราศรัยที่ไม่ได้อยู่ร่าง For God’s Sake, this man can not remain in power นั้นเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างที่ประเมินได้ว่า
การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการคว่ำบาตรทางด้านต่างๆต่อรัสเซียจะติดตามมาอีกมากจนกว่าระบอบปูตินจะหลุดจากอำนาจในรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ในผลกระทบเหล่านี้ก็จะมีทั้งผลกระทบทางลบ ผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ผลเสียหายทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน และ โอกาสทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน
ส่วนการเริ่มเดินหน้าแผนระยะที่สองของระบอบปูตินรัสเซียด้วยการถอยไปคุมภูมิภาคดอนบาสและชะลอการโจมตีพื้นที่อื่นๆของยูเครนอาจทำให้ดูเหมือนว่า สถานการณ์กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย แต่ความไม่แน่นอนมีอยู่สูงยิ่ง และ การโจมตีครั้งใหญ่รอบใหม่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
"เมื่อประเมินสถานการณ์ผิดผลาด ย่อมทำให้การเตรียมการรับมือด้วยมาตรการต่างๆไม่ตรงเป้า และ นำมาสู่การมีมาตรการทางเศรษฐกิจที่ไม่เพียงพอรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นเพิ่มเติมอีกในอนาคต การกู้เงินและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้เยียวยาผลกระทบไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนต่อระบบเศรษฐกิจและอาจนำมาสู่ความไม่ยั่นยินและวิกฤติฐานะการคลังในอนาคตได้"