“มอเตอร์โชว์ 2022” ทำสัญญาจองรถยังไงไม่ให้ถูกโกง ร้องเรียนได้หรือไม่

30 มี.ค. 2565 | 09:27 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2565 | 16:37 น.

เช็คข้อมูลจองรถยนต์ มอเตอร์โชว์ 2022 มีวิธีทำสัญญาจองรถยังไงไม่ให้ถูกโกง ร้องเรียนได้หรือไม่ หลัง “อนุชา” พร้อมสคบ. ลงพื้นที่ ตรวจสอบสัญญาการจองรถยนต์ใหม่ในงานมอเตอร์โชว์ ป้องกันการเอาเปรียบ แนะนำผู้ประกอบการทำตามกฎหมาย

วันนี้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะประกอบด้วย นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ กรรมการบริหาร บริษัท กรังซ์ปรีด์ อินเตอเนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และคณะเจ้าหน้าที่ สคบ. 

 

ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจองภายในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 หรือ มอเตอร์โชว์ 2022 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

 

หลังจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ในปัญหาเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจได้มีการกรอกรายละเอียดไม่ครบถ้วนตามสัญญาที่มีการจอง การส่งมอบรถยนต์ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจอง และผู้ประกอบธุรกิจไม่คืนเงินจองแก่ผู้บริโภค ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน  

 

สคบ. โดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา จึงได้มีการออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นการกำกับดูแล และควบคุมการทำสัญญาจองรถยนต์ (ใหม่) ที่มีการนำออกจำหน่ายในท้องตลาด

 

โดยมีการเรียกเก็บเงินบางส่วน เช่น เงินจอง เงินดาวน์ หรือสิ่งที่รับไว้เป็นมัดจำ จากผู้บริโภคไว้เป็นประกัน ซึ่งมักพบปัญหาผู้ประกอบธุรกิจมีการริบเงินดังกล่าว สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

นายอนุชา กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการปฏิบัติงานของ สคบ. ในการตรวจสอบสัญญาการจองรถยนต์ใหม่ภายในงานมอเตอร์โชว์ 2022 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ที่ต้องการมาซื้อรถยนต์ว่าท่านจะอุ่นใจที่ได้รับความคุ้มครองจาก สคบ. ที่ได้ตรวจสอบผู้ประกอบการรถยนต์ว่าปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ 

 

จากการลงพื้นที่พูดคุยและเยี่ยมชมบูธต่าง ๆ พบว่าทุกบริษัทปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าการมาจองรถยนต์ภายในงานจะมีความเป็นธรรมอย่างแน่นอน

 

ขณะที่ทางผู้จัดงานได้มีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19  จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่เข้ามาชมงานปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด 

 

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม สคบ. มีข้อแนะนำว่า ที่ผ่านมาได้ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องกำหนดให้ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 เพื่อป้องกันปัญหา แก่ผู้บริโภค เช่น จองรถยนต์แล้วไม่ได้รถตามกำหนด พนักงานขายออกใบเสร็จรับเงินจองให้ไม่ครบ

 

เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว ผู้บริโภคควรพิจารณาสัญญาจองรถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งจะต้องมีสาระและเงื่อนไข ดังนี้

 

1.รายละเอียดของรถยนต์ที่จะซื้อ เช่น

  • ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์
  • รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (ถ้ามี)
  • จำนวนเงินจองหรือมัดจำ
  • ราคาขาย

 

2.กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์

 

3.สิทธิผู้บริโภคบอกเลิกสัญญาได้ทันที หากผู้ขายได้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น

  • ปรับเปลี่ยนราคาสูงขึ้น
  • ไม่ส่งมอบรถภายในกำหนด
  • ส่งมอบรถไม่ตรงตามยี่ห้อ รุ่น ปี สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์
  • ไม่ส่งมอบอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมตามสัญญา
  • เมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วผู้ขายจะต้องคืนเงินจองให้แก่ผู้บริโภคภายใน 15 วัน

 

นอกจากนี้ประกาศดังกล่าวยังห้ามผู้ขายยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดชอบที่เกิดจาก การผิดสัญญาของผู้ขาย หรือห้ามให้ผู้ขายเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาส่งมอบรถยนต์หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญาและห้ามผู้ขายบอกเลิกสัญญากับผู้บริโภคโดยที่ผู้บริโภคมิได้ผิดสัญญาด้วย 

 

หากผู้บริโภค พบสัญญาจองที่ขาดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใด จะถือว่าเป็นสัญญาที่ผิดกฎหมายผู้ขายจะต้องรับโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สามารถร้องเรียนได้ที่ สคบ.