พัฒนา “เรือปลาลัง” เสริมเทคโนโลยีจับปลา ลดพลังงาน รักษ์โลก

31 มี.ค. 2565 | 10:39 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2565 | 17:45 น.

“อลงกรณ์” จับมือศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมาคมประมงไทย เดินหน้าพัฒนา ”เรือปลาลัง” ลดต้นทุนแรงงาน-พลังงาน รักษ์โลก เสริมเทคโนโลยีจับปลา ลดพลังงาน รักษ์โลก

อลงกรณ์ พลบุตร

 

วันนี้ (31 มีนาคม 2565) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เข้าเยี่ยมชมเรือฝึก"ปลาลัง" ณ ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) จ.สมุทรปราการ โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว นายประพันธ์ ลีปายะกุล รองอธิบดีกรมประมง นางมาลินี สมิทธิ์ฤทธี เลขาธิการศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ MR.Koichi Honda จากรัฐบาลญี่ปุ่น นายพิชัย แซ่ลิ้ม นายกสมาคมประมงสมุทรปราการและกรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาการประมงฯ กรมประมง ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการเรือฝึก "ปลาลัง"

 

 

 

ทั้งนี้ เรือฝึก “ปลาลัง” เดิมเป็นเรือประมงอวนล้อมจับ และได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นเรือฝึกประมงอวนลากในปี 2564 ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกรมประมงและรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้งบประมาณ Japanese Trust Fund ในหัวข้อโครงการ Responsible Fishing Technology and Practice ให้เป็นเรือฝึกประมงตัวอย่าง ในการพัฒนา ปรับปรุงเครื่องมือทำการประมง เพื่อช่วยลดต้นทุนในการประกอบอาชีพด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และใช้พลังงานเชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแหล่งทำการประมง

 

ชมบรรยากาศภายในเรือ

รวมถึงภาวะโลกร้อน (Low Impact and Fuel Efficient)  นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่และสุขอนามัยที่ดีของลูกเรือบนเรือประมง เสริมสร้างความปลอดภัยการทำงานในทะเล การส่งเสริมและให้ความสำคัญในด้านการเก็บรักษาคุณภาพสัตว์น้ำบนเรือประมง ทั้งแบบสดและมีชีวิต (Fresh & Life Fish) อย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อให้สัตว์น้ำที่จับได้สามารถคงความสด ลดการสูญเสีย และขายได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด

 

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เสนอแนะให้ศูนย์ซีฟเดคและกรมประมงบูรณาการความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในการนำเทคโนโลยี และเครื่องจักรกลมาใช้ในการพัฒนาเรือประมงของไทยต่อยอดจากแนวทางการพัฒนาเรือฝึก “ปลาลัง” ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบที่ดี ขอให้สมาคมการประมง เข้ามาร่วมกันพัฒนาปรับปรุงเรือประมงของไทยมุ่งเป้า 1 จังหวัด 1 ลำ

 

  เรือปลาลัง

 

จากนั้นนายอลงกรณ์และคณะได้เยี่ยมชมเรือปลาฝึกลังเรือจุฬาภรณ์และเรือมหิดลพร้อมทั้งให้กำลังใจกรรมการสมาคมประมง เจ้าหน้าที่กรมประมงและลูกเรือก่อนที่เรือฝึกปลาลังจะออกทำการลากอวนในอ่าวไทยตอนบนช่วงบ่ายวันนี้