คนอุดรฯร้อง"เยียวยา" ย้ายฝึกบินF-16สิงคโปร์ไป"น้ำพอง"ต้องรอถึงปี 2569 

31 มี.ค. 2565 | 10:43 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2565 | 17:58 น.

กมธ.ต่างประเทศเปิดเวที ฟังเสียงสะท้อนชาวชุมชนรอบกองบิน 23 อุดรธานี ได้รับผลกระทบทางเสียงจากเครื่องบินF-16 สิงคโปร์ ที่มีข้อตกลงใช้ซ้อมบินถึงปี 2571 ทอ.เร่งซ่อม-ขยายสนามบินน้ำพองไว้ใช้แทนได้ปี 2569 ชาวบ้านร้องตั้งกองทุนจัดสวัสดิการชุมชนรอบกองบิน  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25-26 มี.ค. 2565 ที่ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ (วิทยาเขตอุดรธานี) คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดเวทีสัมมนารับฟังผลกระทบจากการฝึกบินร่วม ระหว่างกองทัพอากาศไทย กับกองทัพอากาศสิงคโปร์ จากประชาชนในเขตเทศบาลอุดรธานี ชุมชนรอบ ๆ สนามบินกองบิน 23  

 

รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ  นาวาอากาศเอก(น.อ.) วิศรุต จันทรปะดิษฐ์  ผู้บังคับการกองบิน 23 นายสายัณห์ หมีแก้ว นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 9  ร่วมชี้แจงด้วย จากที่กมธ.การต่างประเทศ เคยนำคณะลงพื้นที่มาประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกของปัญหาดังกล่าว ที่ห้องประชุมภายในกองบิน 23  เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564  ที่ผ่านมา 

คนอุดรฯร้อง\"เยียวยา\" ย้ายฝึกบินF-16สิงคโปร์ไป\"น้ำพอง\"ต้องรอถึงปี 2569 

คนอุดรฯร้อง\"เยียวยา\" ย้ายฝึกบินF-16สิงคโปร์ไป\"น้ำพอง\"ต้องรอถึงปี 2569 

นายศราวุธ  เพชรพนมพร  ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย อุดรธานี  กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเสียงเครื่องบิน F-16 ของกองทัพอากาศสิงคโปร์  จะได้เสนอข้อเดือดร้อน ข้อเสนอแนะเป็นที่ร่วมกันในการแก้ไขปัญหาทั้งหลาย ทั้งมวลผ่านทางกองบิน 23 ไปยังกองทัพอากาศ  เพื่อให้หาแนวทางการแก้ไข หรือเยียวยาให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อไป 

 

หลังการสัมมนา นายศราวุธฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มเข้ามาดูแลในกรณีนี้มาจนถึงวันนี้ มีความพอใจอยู่ระดับหนึ่ง เนื่องจากว่าได้รับการชี้แจงจากกองบิน 23 ว่า ทางกองทัพอากาศมีแผนที่จะย้ายการฝึกบินเครื่องบิน F-16 สิงคโปร์ จากกองบิน 23 ไปใช้พื้นที่ของสนามบินน้ำพอง จ.ขอนแก่น ในปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569  ถึง 2 ครั้งแล้ว

คนอุดรฯร้อง\"เยียวยา\" ย้ายฝึกบินF-16สิงคโปร์ไป\"น้ำพอง\"ต้องรอถึงปี 2569 

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันหาวิธีทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มีความก้าวหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง โดยยอมที่จะย้ายการฝึกบินร่วมกันไปทำในพื้นที่สนามบินน้ำพอง แทนที่ที่จะใช้พื้นที่กองบิน 23 ทำการฝึกบินไปจนครบระยะที่ทำบันทึกข้อตกลงฯ ในปี 2571 

 

ส่วนการแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยเฉพาะในประเด็นที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเสียงฯ ต้องให้ทางกองบิน 23 กองทัพอากาศ และกองทัพอากาศสิงคโปร์  ร้องขอให้มีการเยียวยาแก่ประชาชนดังกล่าวนั้น  ได้มีการพูดคุยผ่านทางกองบิน 23 เพื่อขอให้นำเสนอไปยังส่วนกลางต่อไปแล้ว ปัญหานี้อยู่ระหว่างรอเวลาที่จะจบ นายศราวุธฯกล่าว 

 

ด้านนายเกียรติ สิทธิอมร รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ กล่าวว่า จากการที่ได้พบกับเอกอัครราชฑูตของประเทศสิงคโปร์  ได้ปรารภว่าที่กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี  เกิดเหตุผลกระทบทางเสียงที่เกิดจากเครื่องบิน F-16 สิงคโปร์ ที่ไปใช้พื้นที่ของกองบิน 23 ทำการการฝึกบินร่วมกัน ระหว่างกองทัพอากาศสิงโปร์และกองทัพอากาศไทย   ซึ่งท่านทูตได้รับทราบและจะได้หาทางร่วมกัน หาทางวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบทางเสียงที่เกิดขึ้น และแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนรอบ ๆ กองบิน 23 ต่อไป     

 

ขณะที่น.อ. วิศรุต จันทรประดิษฐ์ ผู้บังคบการกองบิน 23   ชี้แจงต่อที่เวทีสัมมนา ว่า  กรณีกองทัพอากาศสิงคโปร์ มาใช้พื้นที่ของกองบิน 23 ทำการฝึกบินนั้น เป็นข้อตกลงทางการทหาร ระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ ในเรื่องของการการฝึกทางทหารร่วมกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ทำการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)  ระหว่าง 12 พฤศจิกายน 2562- 12 พฤศจิกายน 2571  ทางกองบิน 23 เป็นเพียงหน่วยงานปฏิบัติ ไม่ได้เป็นหน่วยงานนโยบาย 

 

กรณีที่ประชาชนร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบทางเสียง ที่เกิดจากเครื่องบิน F-16 สิงคโปร์นั้น ทางกองบิน 23 ได้ทำรายงานเสนอไปยังหน่วยเหนือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  และทางกองบิน 23 ได้กำหนดแผนการฝึกบินให้ลดน้อยลง เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นของฝ่ายสิงคโปร์วันละ 2 ช่วง คือช่วงเช้า 08.30 น. และช่วงบ่ายเวลา 12.30น. สำหรับเครื่องบินที่ประจำการอยู่ที่กองบิน 23 กำหนดอยู่ที่ช่วงเช้าเวลา 10.30 น. บ่าย 14.30น.ให้ทำการบินผ่านในระยะความสูงไม่ต่ำกว่า 2,000 ฟุต หรือ 700 ม. 

 

น.อ.วิศรุตฯ กล่าวอีกว่า ทางกองทัพอากาศและกองบิน 23 และกองทัพอากาศประเทศสิงคโปร์ ได้ทำการแก้ไขปัญหาผลกระทบดังกล่าวมาโดยตลอด โดยมีการร่วมกันลงพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ รอบ ๆ กองบินที่ 23 และใกล้เคียง พูดคุยสอบถาม มีการทำ CSR กับชุมชนต่าง ๆ

 

ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น ทางกองทัพอากาศได้ใช้งบประมาณจำนวนหนึ่ง เข้าไปทำการพัฒนาปรับปรุงสนามบินน้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นสนามบินที่อยู่ในการดูแลของกองทัพอากาศอีกแห่งหนึ่ง เป็นสนามบินขนาดเล็ก โดยจะพัฒนาปรับปรุงทางวิ่ง(รันเวย์) ให้มีความยาวเพียงพอ ให้สามารถรองรับเครื่อง F-16 ขึ้น-ลง ได้ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ คาดว่าในปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569 จะย้ายการฝึกบินของเครื่องบิน F-16 สิงคโปร์ จากพื้นที่กองบิน 23 ไปฝึกบินที่สนามบินน้ำพองได้อย่างถาวร 

 

น.อ.วิศรุตฯกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าในปี 2568 หรือ 2569 จะย้ายเครื่องบิน F-16  สิงคโปร์ไปฝึกที่สนามบินน้ำพองแล้วก็ตาม  กองทัพอากาศที่มีกองบินที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ 12 กองบิน  ก็มีเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงเทียบเท่าเครื่องบิน F-16  หรือสูงกว่า มีความจำเป็นต้องมาใช้สนามบินกองบิน 23 แห่งนี้อยู่อีก เพราะกองทัพอากาศต้องมีภารกิจ การพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ  ซึ่งทั้งนี้ กองบิน 23 ยินดีรับฟังเสียงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อที่จะได้ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน 

 

ด้านนายสายัณห์ หมีแก้ว  นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 9  กล่าวว่า  มื่อวันที่ 22-24 ก.ย.2564 กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานสิ่งแวดล้อม ที่ 9 ร่วมกันทำการวัดระดับเสียง 4 จุด คือ โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม ร.ร.อนุบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม  ร. ร.อุดรพิชัยรักษ์ และวัดป่าบ้านถ่อน ปรากฏว่าระดับเสียงเกินมาตรฐานกำหนดของกรมควบคุมมลพิษทั้ง 4  จุด โดยเฉพาะจุด ร.ร.อนุบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม เกินมาตรฐานสูงมากกว่าทุกจุด

 

การที่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ มาจัดเวทีสัมมนาผลกระทบภาวะทางเสียงครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสให้ประชาชน สามารถร้องเรียนถึงผลกระทบได้ นอกเหนือจากผลกระทบทางเสียงของเครื่องบิน F-16 สิงคโปร์ และมีความเป็นไปได้ว่า ทางกรมควบคุมมลพิษ จะนำเอาเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีสูงที่มีอยู่ มาทำการติดตั้งในพื้นที่ เพื่อวัดระดับเสียงที่เกิดขึ้นอย่างถาวร เพื่อนำเอาไปเป็นส่วนประกอบรายงานการแก้ไขปัญหา 

 

ด้านนายภาคภูมิ  บุผมาศ   ประธานชมรม Strong ภาคประชาชนจังหวัดอุดรธานี      ได้เสนอข้อปัญหาและข้อเสนอแนะ ในกรณีให้การเยียวยาแก่ประชาชนทั่วไป ที่อยู่อาศัยในชุมชนโดยรอบกองบิน 23 และใกล้เคียง เพราะทางกองบิน 23 มีโรงพยาบาลของกองบิน 23 อยู่แล้ว สามารถให้การเยียวยาแก่ประชาชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ขอให้ตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนรอบกองบิน 23  เหมือนกับการตั้งกองทุนรอบโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของจังหวัดอุดรธานี ที่มีการจัดการจัดตั้งหมดทุกแห่งแล้ว

 

นอกจากนี้แล้วต้องการให้ทางกองบิน 23 ทำกำหนดตารางการฝึกบินของเครื่องบิน F-16 สิงคโปร์ ล่วงหน้า และประกาศให้สถานที่ราชการ ชุมชนที่อยู่รอบ ๆ กองบิน 23  มีเวลาในการปรับเปลี่ยน หรือ เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และขอให้กองทัพอากาศเร่งพัฒนาปรับปรุงสนามบินน้ำพอง ให้สามารถรองรับการย้ายการฝึกบินของเครื่องบินสิงคโปร์ให้เร็วกว่าที่วางแผนเอาไว้