เกษตรกรไทยยุค “ลุงตู่” ทุกข์ใจอะไรนักหนา ฟังทางนี้

02 เม.ย. 2565 | 07:23 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2565 | 14:40 น.

สาริทธิ์ สันห์ฤทัย นักวิชาการอิสระด้านปศุสัตว์ เขียนบทความเรื่อง ทุกข์เกษตรกรภาคปศสัตว์ สารพัดปัญหารุมเร้าวนเวียนซ้ำซาก ทั้งต้นทุนสูง ผลผลิตตกต่ำ ราคาผันผวน ร้อน-แล้งทุบซ้ำ จะอยู่รอดได้ต้องทำอย่างไร ใจความสำคัญดังนี้

 

ไทยเป็นประเทศที่เติบโตมาจากภาคเกษตรกรรม ทำให้ “ภาคเกษตร” กลายเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญที่สุดในประเทศ  และเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ได้รับการยกย่องว่าเป็น กระดูกสันหลังของชาติ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่กลับยากจน   ต้องประสบกับปัญหาเดิมซ้ำ ๆ  ทั้งผลผลิตตกต่ำ  และราคาผันผวน กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย

 

  • • ทุกข์เกษตรกร แบกต้นทุนหลังแอ่น

ในภาคปศุสัตว์ต้องประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ผ่านมา  ยิ่งในสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งต่างเป็นผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลก   กลายเป็นปัจจัยหนุนส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นจากการขาดแคลน  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวสาลี  ปัจจุบันทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 13 บาท    ส่วนกากถั่วเหลืองจากเมล็ดนำเข้าราคาขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 23 บาท จากปกติมีราคากิโลกรัมละ 10 กว่าบาท

 

เกษตรกรไทยยุค “ลุงตู่” ทุกข์ใจอะไรนักหนา ฟังทางนี้

 

ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังมีต้นทุนด้านการบริหารจัดการในโรงเรือน ทั้งปัญหามีน้ำไม่เพียงพอ ต้องซื้อน้ำ และต้องมีขั้นตอนปรับคุณภาพน้ำให้สะอาดก่อนนำมาใช้ในโรงเรือน  และยังมีค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการต้องเปิดระบบปรับอากาศ (EVAP) ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าฤดูกาลอื่น ๆ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือน กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เกษตรกรต้องเผชิญ  และค่าใช้จ่ายจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกเพราะค่าเอฟทีที่ปรับขึ้นอีกครั้งในเดือน พ.ค.นี้  นอกจากนี้ ยังมีค่าพลังงานที่สูงขึ้นกระทบโดยตรงต่อการขนส่ง

 

ขณะที่ราคาขายผลผลิตของเกษตรกร เพียงแค่ช่วยต่อลมหายใจให้พอมีทุนในการเดินหน้าอาชีพต่อไปเท่านั้น ไม่ได้สามารถสร้างผลกำไรให้เกษตรกรร่ำรวย

 

เกษตรกรไทยยุค “ลุงตู่” ทุกข์ใจอะไรนักหนา ฟังทางนี้

 

 

  • • ร้อน-แล้งกระทบเกษตรกร  

ขณะที่สภาพอากาศร้อน-แล้ง ในฤดูร้อน ที่มักมีพายุฝน เริ่มส่งผลกับบางพื้นที่ที่กำลังประสบกับปัญหาอากาศแปรปรวน  ทั้งร้อนขึ้น และอาจมีอุณหภูมิต่ำลงในช่วงค่ำถึงรุ่งเช้า  ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญทั้งต่อไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร  โดยสัตว์จะมีอาการเครียดและให้ผลผลิตลดลง อาจเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น เพราะจะมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ  การกินอาหารลดน้อยกว่าปกติ  ทำให้การเติบโตต่ำกว่ามาตรฐาน  เมื่อสุขภาพไม่ดีจึงติดโรคได้ง่าย มีอัตราการตายแบบเฉียบพลันเพิ่มขึ้น 

 

ในส่วนของแม่ไก่ไข่ นอกจากผลกระทบจากสภาพอากาศแล้ว ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการปลดแม่ไก่ยืนกรงตามรอบเป็นจำนวนมาก  ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรปรับลดลงจากช่วงปกติ 10-20 %  แม้ว่าในเดือนมีนาคมนี้จะมีการปลดแม่ไก่ยืนกรงลดลง  โดยปริมาณไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดในปัจจุบันมีประมาณ 40 ล้านฟองต่อวัน

 

สำหรับสุกร แม่สุกรอุ้มท้องมักมีอาการแท้ง  ลูกสุกรเสียหาย มีเปอร์เซ็นต์เข้าคลอดต่ำ  กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น  ลูกสุกรมีอาการอ่อนแอ  อาจตายระหว่างแม่เลี้ยงลูก  ปริมาณลูกสุกรหย่านมจะน้อยลง  เมื่อนำเข้าเลี้ยงเป็นสุกรขุน  จะทำให้ช่วงนี้มีสุกรขุนเข้าสู่ตลาดลดน้อยลง เชื่อว่าจะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้สถานการณ์ต้นทุนสูงรุนแรงขึ้น ตามคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ประเมินว่า ต้นทุนการผลิตสุกรไตรมาสที่สองของปีนี้จะสูงถึงกิโลกรัมละ 98.81 บาท

 

  • • รัฐตรึงราคา ซ้ำเติมทุกข์…แนะปล่อยกลไกตลาดทำงาน ทางออกเกษตรกร

ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญแทบทุกปี  ซึ่งเป็นผลจากราคาที่ไม่สามารถสะท้อนดีมานด์  และซัพพลายที่แท้จริง  เกษตรกรขายสินค้าได้ในราคาต่ำ   โดยปัจจุบันสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญ อาทิ ไก่เนื้อมีต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 39-40 บาท   ไข่ไก่มีต้นทุนอยู่ที่ 3.10-3.24 บาทต่อฟอง  แต่ราคาขายจริงของสินค้าปศุสัตว์เหล่านี้ จะมีกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ควบคุมและขอความร่วมมือเกษตรกรให้ตรึงราคาไว้  ไม่สามารถขายในราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้ 

 

 วันนี้รัฐรู้ดีว่า ทุกข์เกษตรกรคืออะไร ทั้งต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง  วิกฤตยูเครนเข้ามาซ้ำเติมปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ภัยแล้ง อากาศร้อน เป็นปัญหาเบื้องหน้า ที่รุมเร้าเข้ามาประชิดตัวเกษตรกรในขณะนี้  ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตที่จะลดลง ในขณะที่การบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่ใกล้จะถึง   แน่นอนว่าราคาจะปรับตามดีมานด์-ซัพพลายที่แท้จริง 

 

เรื่องนี้ ทั้งผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจในประเด็น “กลไกตลาด”  และปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี ให้ราคาขายสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง จะเป็นทางออกให้เกษตรกรผู้ผลิต ที่จะสามารถอยู่ได้ในวิกฤตต้นทุนสูงเช่นนี้