“ประกันรายได้ยางพารา” กยท. นัดเคาะราคา งวดสุดท้าย วันพรุ่งนี้

03 เม.ย. 2565 | 09:57 น.
อัปเดตล่าสุด :03 เม.ย. 2565 | 16:58 น.

ปิดฉาก “ประกันรายได้ยางพารา” 3 ปี รัฐควักแล้ว 3.3 หมื่นล้าน “ณกรณ์” ผู้ว่าการ กยท. นัด เคาะราคากลาง วันพรุ่งนี้ 4 เม.ย.นี้ รัฐไม่ต้องจ่าย จากราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควันยังดียกแผง ผลพวง เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้น ความต้องการพุ่ง

การแพร่ระบาดของ “โควิด- 19" ที่ยังระบาดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ภาคบริการ และกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่ง “ยางพารา” เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรสำคัญของไทยได้รับผลกระทบส่งออกลดลงทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่าในปี 2563 ส่งผลราคายางพาราในประเทศตกต่ำ ก่อนกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2564

 

หลังเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว และราคายางในประเทศดีต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาถึง ณ ปัจจุบัน และยังยืนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเดือน ก.พ. 2565 ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน รัฐไม่ต้องควักชดเชยส่วนต่าง และเวลานี้โครงการประกันรายได้สินค้า 5 พืชเกษตร (รวมยางพารา) ได้เข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งเป็นโค้งท้ายภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

 

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

 

นายณกรณ์  ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการ "ประกันรายได้ยางพารา" เป็นหนึ่งในนโยบายประกันรายได้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพด รวมเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 7.69 ล้านครัวเรือน ซึ่งโครงการประกันรายได้ถูกบรรจุให้เป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

 

โดยพรรคประชาธิปัตย์ ขับเคลื่อนโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคฯ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นนโยบายที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อให้มีรายได้สม่ำเสมอในภาวะวิกฤติจากการระบาดของโรค "โควิด-19"

 

 

ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดทำโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1,2 และ 3 โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2562 (ล่าสุดอยู่ในรอบที่ 6 ของโครงการในปีที่ 3) โดยประกันรายได้ยางพารา 3 ชนิด ได้แก่  ยางแผ่นดิบคุณภาพดีที่  60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.), น้ำยางสด (DRC 100 %) 57 บาทต่อ กก. และ ยางก้อนถ้วย (DRC 50 %) 23 บาทต่อ กก. เป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ที่มั่นคง ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพราคายางของประเทศ

 

น้ำยางสด

สำหรับผลการดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 (ต.ค. 2562-ก.ย. 2563) กรอบงบประมาณ 24,278.67 ล้านบาท ผลการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาให้แก่เกษตรกร ทั้งสิ้นแล้วกว่า 1.2 ล้านราย ใช้เงิน 24,172.437 ล้านบาท ส่วนโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2  (ต.ค. 2563-ก.ย. 2564) งบประมาณ 10,042.820 ล้านบาท จ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรแล้วทั้งสิ้นกว่า 1.2 ล้านราย  จำนวนเงินกว่า  7,553  ล้านบาท

 

ส่วนโครงการประกันรายได้เกษตร กรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 (ต.ค. 2564 -ก.ย. 2565) งบประมาณ 10,065.688 ล้านบาท  ผลการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกร (4 รอบ ต.ค. 2564-ม.ค.2565) กว่า  1.4 ล้านราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 2,271.242 ล้านบาท (รวมระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 3(ใน4 รอบแรก) รัฐจ่ายชดเชยไปแล้วทั้งสิ้น 33,997.426 ล้านบาท) โดยรอบที่ 5 ณ เดือน ก.พ.2565 รัฐบาลไม่ต้องชดเชยส่วนต่าง จากราคายางในตลาดสูงกว่าราคาอ้างอิงเพื่อจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร (กราฟิกประกอบ)

 

ผลการดำเนินงานโครงการ "ประกันรายได้ยางพารา" ปี 3

 

 

อย่างไรก็ดีในงวดสุดท้ายการจ่ายเงินชดเชยของโครงการ "ประกันรายได้ยางพารา" รอบที่ 6 (มี.ค. 2565) จะนัดเคาะราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในวันที่ 4 เมษายนนี้ คาดการณ์ว่าจะไม่มีการจ่ายเงินชดเชย เนื่องจากยางพาราทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบ น้ำยางสด และยางก้อนถ้วย ราคาตลาดยังสูงกว่าราคาประกัน

 

“ในนามของ กยท.และชาวสวนยางทั้งประเทศ ต้องขอบคุณรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโครงการดีๆ มาช่วยดูแลและเสริมสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง อย่างไรก็ดีแม้ในปีนี้สถานการณ์ราคายางจะปรับตัวในราคาที่น่าพอใจ แต่มาตรการในการป้องกัน สร้างความมั่นคง และลดความเสี่ยงด้านรายได้ของเกษตรกรยังมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการในการให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขอแสดงความยินดีกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ในฤดูกาลนี้ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน ทำให้รัฐบาลใช้เงินในโครงการนี้น้อยมาก และสามารถนำเงินก้อนที่เหลือไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ของรัฐบาลได้”

 

ยางแผ่นดิบ

 

นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ราคายางพารามีราคาสูงขึ้นในเวลานี้ ผลจากความต้องการของประเทศคู่ค้าสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย ประกอบกับผลผลิตยางเวลานี้ออกสู่ตลาดลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ จากปีนี้เป็นปีที่มีสภาวะลานีญา ทำให้ฤดูฝนมาเร็วกว่าปกติและเป็นปีที่มีฝนมาก เกิดพายุฝนเขตร้อนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในภาคใต้ที่มีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดของประเทศ รวมทั้งยังมีโรคใบร่วงอยู่ เหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้ราคายางในช่วงนี้สูงขึ้นแบบมีนัยสำคัญ

 

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพี่น้องชาวสวนยางค่อนข้างที่จะมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย แต่ปีนี้มีโอกาสมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ นอกจากราคาที่ปรับขึ้นอย่างน่าพอใจแล้ว ยังมีในเรื่องสวัสดิการ รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐได้พยายามออกมาสนับสนุน ในส่วนของกยท.ต้องขอบคุณในการมีส่วนร่วมของพี่น้องเกษตรกรในหลายๆ เรื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง กยท. ยังเปิดรับฟังคำแนะนำต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนา อุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้ก้าวหน้าต่อไป”

 

ยางก้อนถ้วย

 

อนึ่ง การยางแห่งประเทศไทย รายงานราคายางพารา ณ ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา ณ วันที่ 30 มีนาคม 2565 น้ำยางสดอยู่ที่ 67.20 บาทต่อ กก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ 71.09 บาทต่อ กก.  ยางแผ่นดิบ 65.26 บาทต่อ กก.โดยภาพรวมราคาปรับตัวสูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ มีปัจจัยสนับสนุนจากเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงทางตอนใต้ของไทยมีฝนตกในพื้นที่ ทำให้มีปริมาณยางพาราเข้าสู่ตลาดน้อย ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงต้องการยางเพื่อส่งมอบ

 

อย่างไรก็ตาม ราคายางพารายังได้รับปัจจัยกดดันจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าในต่างประเทศและราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ไมโครชิพ) ชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ และค่าระวางเรือยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งมีราคาแพง

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3771 วันที่ 3 มีนาคม - 6 เมษายน 2565