วันนี้ (28 ธันวาคม 2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ผลักดัน 3 ร่างกฎหมายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ. อสม. ร่างพ.ร.บ. สุขภาพจิต และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไปในปี 2568
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.อสม. ล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อเห็นชอบแล้วจะมีการส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนนำเข้าสภาฯ ต่อไป โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการยกระดับความมั่นคงให้พี่น้อง อสม.จะทำให้เกิด “ความก้าวหน้า มั่นคง ยั่งยืน”
โดยให้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการปฏิบัติงานของอสม. เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายการดำเนินงาน ช่วยเหลือ สงเคราะห์ สวัสดิการ การส่งเสริมสนับสนุน การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอสม.
ส่วน ร่างพ.ร.บ. สุขภาพจิต เพื่อขยายให้เรื่องสุขภาพจิตรวมไปถึงยาเสพติดด้วย เพิ่มกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ เพื่อให้มีกลไกการเงินมาแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดอย่างยั่งยืน ร่าง พ.ร.บ. นี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ก่อนเสนอเรื่องให้ ครม. เห็นชอบส่งเรื่องเข้าสภาฯ
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข จะช่วยเพื่อแก้ปัญหาเรื่องกำลังคน ภาระงาน การกระจายบุคลากร ความก้าวหน้า และปัญหาสมองไหล ให้อำนาจกระทรวงบริหารจัดการตัวเองได้ ประชาชนจะได้รับคือการบริการที่ดีขึ้น เข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้น มีหมอใกล้บ้าน ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. อยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เตรียมเสนอเข้า ครม. เพื่อเห็นชอบในหลักการ
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงผลการทำงานในรอบปี 2567 ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสำคัญที่ทำสำเร็จหลายนโยบาย โดยเฉพาะการต่อยอดโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค มาเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า ซึ่งน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดคิกออฟเฟส 4 อีก 31 จังหวัด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ และจะได้ใช้บริการเต็มรูปแบบใน 1 มกราคม 2568 ถือว่าทำสำเร็จตามเป้าหมายใน 1 ปีแรก
นอกจากนี้ในปี 2567 ยังได้เปิดให้บริการ “ตู้ห่วงใย” ให้ประชาชนในพื้นที่ กทม. และเตรียมขยายเป้าหมายกระจายทั่วพื้นที่และในต่างจังหวัด เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนรับบริการใกล้บ้าน ได้ปรึกษากับแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการเบื้องต้นและรับยาได้ทันที ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ช่วยลดผลกระทบการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย
พร้อมกันนี้ยังมีนโยบายสำคัญที่เริ่มขับเคลื่อนในปี 2567 คือ โครงการคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เนื่องจากพบว่า NCDs ที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด ปีละ 400,000 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 1,000 ราย คิดเป็น 74%ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด คนป่วยใหม่ เพิ่มขึ้น ปีละ ราว 2,000,000 คน
ปัจจุบัน มีคนป่วยในระบบการรักษา รวมๆ 33 ล้านคน ค่าใช้จ่ายโรค NCDs กว่า 130,000 ล้านบาท เป็นภาระใหญ่ของงบประมาณประเทศ จึงพยายามหาวิธีจำนวนผู้เจ็บป่วยเสียชีวิตจากโรค NCDs ก็ได้พบสูตรการนับคาร์บ ของ Harris – Benedict Equation ที่คิดค้นและทำสำเร็จมาแล้ว เป็นการคำนวณคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสมกับแต่ละคน จึงนำสูตรดังกล่าว ไปสอน อสม.ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ได้เริ่มต้นมาแล้ว 6 ครั้ง เริ่มที่จังหวัดสงขลา ตามมาด้วยจังหวัดนครพนม นครสวรรค์ ชลบุรี อุบลราชธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ โดยในปี 67 อสม. นับคาร์บได้แล้ว กว่า 1,069,372 คน ประชาชนทั้งประเทศนับได้แล้ว 9,054,294 คน ตั้งเป้าปี 68 ประชาชนนับคาร์บได้ทั้งประเทศ 50 ล้านคน ถ้าประชาชนมีความรู้เรื่องนี้แล้วนำไปดูแลตัวเอง จะช่วยรัฐประหยัดค่ารักษาพยาบาลกว่า 26,850 ล้านบาทต่อปี เพราะทุกคนกินเป็นไม่ป่วย สวยหล่อ สุขภาพดี