นายเจริญ เหล่าธรรมทัศ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในช่วง2 เดือนของปีนี้(มกราคม-กุมภาพันธ์) ว่า จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ มีปริมาณ 1,095,671 ตัน มูลค่า 18,383.2 ล้านบาท ( 556.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ )
โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 28.9% และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 16.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีการส่งออกปริมาณ 849,810 ตัน มูลค่า 15,836.3 ล้านบาท ( 531.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ )
ทั้งนี้การส่งออกข้าวในเดือนกุมภาพันธ์ มีปริมาณ 635,919 ตัน มูลค่า 10,396 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้น 38.3% และ 30.2% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ที่มีปริมาณ 459,752 ตัน มูลค่า 7,987 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
การส่งออกข้าวทุกชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนสาเหตุมาจากผู้นำเข้าต่างเร่งนำเข้าข้าวเพื่อเก็บสต็อกไว้ เพราะกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะตลาด รวมทั้งการขนส่งระหว่างประเทศ
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการส่งออกข้าวขาวปริมาณรวม 355,956 ตัน เพิ่มขึ้น 36.97% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศอิรัก จีน สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เบนิน เปอร์โตริโก เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 112,338 ตัน เพิ่มขึ้น 6.43% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
โดยส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง แคนาดา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เป็นต้น ส่วนข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 63,711 ตัน เพิ่มขึ้น 73.32% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสมาคมฯคาดว่าในเดือนมีนาคม 2565 การส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 700,000 ตัน เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญในแถบตะวันออกกลาง (เช่น อิรัก อิหร่าน) เอเชีย (เช่น จีน ญี่ปุ่น) และแอฟริกา ยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีข้าวเพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศในช่วงที่สถานการณ์การสู้รบระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนยังไม่คลี่คลาย ซึ่งทำให้เกิดภาวะตึงตัวในกลุ่มสินค้าธัญพืชที่สำคัญ
เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ส่งผลให้มีความต้องการใช้ข้าวเพื่อทดแทนสินค้าทั้งสองชนิดมากขึ้น ประกอบสถานการณ์ราคาข้าวไทยในช่วงนี้ค่อนข้างทรงตัว จากการที่ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 30 มีนาคม 2565 อยู่ที่ 426 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม 418-422ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน อินเดีย343-347 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และปากีสถาน 358-362 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดีย 363-367ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ และปากีสถานอยู่ที่ 386-390 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ ทั้งนี้สมาคมยังตั้งเป้าส่งออกข้าวไว้ที่7ล้านตันซึ่งนี้น่าจะได้ตามเป้าที่ตั้งไว้