สงครามรัสเซีย-ยูเครนผ่านมากว่าเดือนครึ่งยังไม่มีทีท่าจะยุติได้ในเร็ววัน แม้จะมีการเจรจากันไป 6 รอบแล้วแต่ยังไร้ผล ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและยุโรป เพื่อปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย เริ่มส่งผลกระทบย้อนกลับต่อเศรษฐกิจของยุโรป รวมถึงเศรษฐกิจของทั่วโลกมากขึ้น ทั้งผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน วัตถุดิบอาหารสัตว์ อาหารคน ผลิตภัณฑ์เหล็ก และอื่น ๆ ดันเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก จากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญ
ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดทำรายงานผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) โดยได้วิเคราะห์ฉากทัศน์ (Scenario) ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการเงินของโลกจากความขัดแย้ง ที่เป็นไปได้ใน 3 กรณี
กรณีแรก การเจรจาประสบความสำเร็จนำไปสู่การยุติการสู้รบ เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบระยะสั้น และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี, เศรษฐกิจรัสเซียและยูเครนเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี หลังชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกหลักเริ่มปรับตัวลดลงหลังสงครามยุติ
กรณีที่ 2 รัสเซียใช้กำลังทหารเพื่อยึดครองยูเครนสำเร็จ เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการแบ่งเป็นสองขั้วอำนาจ ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวการค้า การลงทุน และห่วงโซ่การผลิตโลก, เศรษฐกิจรัสเซียและยูเครนได้รับกระทบมาก จากยังคงมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างต่อเนื่องในปี 2565 และราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกหลักยังคงสูงต่อเนื่อง ส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วโลก และกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิต ภาคการเกษตร และภาคขนส่ง
กรณีที่ 3 การเจรจาไม่ได้ข้อยุติ ทำให้การสู้รบมีความยืดเยื้อ เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะยุโรปที่จะประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งพลังงาน หลังจากมีการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น, ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจรุนแรงขึ้นหากจีนสร้างความร่วมมือทางการทหารกับรัสเซีย นำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจจีน และราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัวขึ้น และส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง
ทางสำนักงานฯยังได้ประมาณการผลกระทบราคาน้ำมันต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในภาพรวมของไทย แบ่งออกเป็น 3 กรณี กรณีที่ 1 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 33 บาทต่อลิตร (กรณีไม่มีการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหลังสิ้นเดือน เม.ย.65 และไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันหลังวันที่ 20 พ.ค. 65) ประมาณการเศรษฐกิจ (GDP) ไทยจะขยายตัวได้ 3.5 % อัตราเงินเฟ้อ5.0%
กรณีที่ 2 น้ำมันดิบดูไบ 125 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกดีเซล 40 บาทต่อลิตร ประมาณการ GDP ไทย 3.2% และเงินเฟ้อ 6.2% และกรณีที่ 3 น้ำมันดิบดูไบ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกดีเซล 46 บาทต่อลิตร ประมาณการ GDP ไทย 3.0% และเงินเฟ้อ 7.2%
ทั้งนี้มีข้อเสนอแนวทางที่ต้องให้ความสำคัญในระยะต่อไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้โดยเร็วและยั่งยืน เช่น การดำเนินมาตรการระยะสั้นแบบมุ่งเป้า (Targeted) แนวทางคือ การติดตามมาตรการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และขยายผลให้เกิดประสิทธิผลโดยเร็ว รวมทั้งการประเมินความจำเป็นในกรณีที่ต้องมีการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมโดยพิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณที่เปลี่ยนแปลงไป, การเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ แนวทางคือ การปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการโดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมสมัยใหม่มากขึ้น เพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่ม สามารถตอบโจทย์การเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานโลก รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับการแบ่งขั้วอำนาจของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า จากผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับกรอบประมาณการณ์จีดีพีไทยปี 2565 ลงเหลือ 2.5-4% จากเดิม 2.5-4.5% และปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเป็น 3.5-5.5% จากเดิม 2-3%โดยยังคงประมาณการส่งออกไว้ที่กรอบเดิม 3-5%
ทั้งนี้จากสงครามที่ยังยืดเยื้อ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียของสหรัฐฯและชาติตะวันตกคงไม่จบลงง่าย ๆ ขณะที่รัสเซียก็ตอบโต้กลับ ทำให้เวลานี้เศรษฐกิจในยุโรปอ่อนแอลง จากพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าอาหารจากรัสเซีย และยูเครนเป็นสัดส่วนที่มาก ทำให้เวลานี้ราคาพลังงาน อาหาร ค่าครองชีพ เงินเฟ้อในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นมาก ความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมลดลงจากได้รับผลกระทบจากซัพพลายเชนดิสรัปชั่น
“ยุโรปเวลานี้เริ่มขาดแคลนอาหารและราคาแพง จากการนำเข้าสินค้าจากยูเครนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ตะกร้าขนมปัง” หรือเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ที่สำคัญของยุโรปมีปัญหา เพราะคนทิ้งบ้าน ทิ้งเรือกสวนไร่นา ทำให้ประเทศในยุโรปต้องแสวงหาแหล่งอาหารอื่นทดแทน ตอนนี้แพงเท่าไหร่เขาก็ซื้อขอให้มีของ ล่าสุดเขาก็มาสั่งซื้อสินค้าของไทยเพิ่มเพื่อไปกักตุนเป็นความมั่นคงด้านอาหาร เช่น เนื้อไก่ อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น”
ในทางกลับกันสินค้ายานยนต์ของไทยได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไมโครชิพที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกสินแร่ที่ใช้ผลิตไมโครชิพรายสำคัญ และระงับส่งออก รวมถึงวัตถุดิบ เช่น เหล็ก พลาสติกที่เป็นวัตถิบสำคัญก็ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. คาดการณ์ส่งออกรถยนต์ของไทยปีนี้จะลดลง 10-20% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 9.5 แสนคัน ถึง 1 ล้านคัน
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า สำนักวิจัยฯ ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปีนี้จาก 3.8% เหลือ 3.1% อย่างไรก็ตามคาด เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะเร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง โดยไตรมาสสองน่าจะขยายตัวได้ 2.3% มีปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ขยายตัว กำลังซื้อระดับกลาง-บนดีขึ้น จากรายได้ภาคเกษตรบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกมาก ทั้งเอกชนชะลอการลงทุนโครงการใหม่
“สมมุติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ กรณีเลวร้าย ธนาคารกลางยุโรปขยับมาตรการแทรกแซงจนเกิดการตอบโต้จากรัสเซีย ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจยุโรปและอาจกระทบส่งออกของไทย หรือหากจีนล็อกดาวน์อีกรอบ จะฉุดการส่งออกไทยไปอาเซียนและจีน” ดร.อมรเทพกล่าว
กรณีเลวร้าย สิ่งที่น่ากังวลคือ สงครามจะเป็นวิกฤติลามสถาบันการเงินหรือไม่ ถ้าสถาบันการเงินในยุโรป มีปัญหาหรือมีการผิดนัดชำระหนี้ในรัสเซียหรือปัจจัยที่จะกดดันมากขึ้นอาจกระทบยุโรป แต่ยังเชื่อว่ายุโรปจะมีมาตรการดูแลสภาพคล่องได้
“ที่เราห่วง ถ้ากรณีเลวร้ายสุด น่าจะอยู่ในภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะงักงัน เงินเฟ้อสูง) คือ เศรษฐกิจไทยคงจะนิ่ง โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง ที่เรามองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นคงจะไม่ใช่ และเงินเฟ้ออาจจะทะลุไปที่ 10% ตรงนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยต้องจับตา คาดหวังจะมีทางออกจากมาตรการทางการคลังมาดูแลกำลังซื้อระดับล่าง”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3773 วันที่ 10 - 13 เมษายน 2565