พิษของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อมากกว่า 1 เดือน ส่งผลให้ทั่วโลกขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในห่วงโซ่การผลิตอาหาร อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เรฟซีดออยล์ นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังประกาศห้ามส่งออกสินค้าธัญพืชดังกล่าว ตามด้วยบราซิล อีกหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกก็ประกาศเก็บภาษีส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์ดังกล่าวเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระหว่างที่สงครามยังไม่สงบ ไม่ต่างกับภาคปศุสัตว์ไทยเจรจากันมากกว่า 2 สัปดาห์ แต่ข้อสรุปที่ได้มา คือ เปิดนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เสรี แบบมีเงื่อนไข
เงื่อนไขที่ว่า คือ นำเข้าข้าวโพดจากประเทศใดก็ได้ภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ภาษี 0% แต่จะต้องนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 และไม่เกินปริมาณที่รัฐบาลกำหนด คือ 1.5 ล้านตัน เท่ากับผู้นำเข้ามีเวลาประมาณ 3 เดือน ในการนำเข้าให้เสร็จสิ้น นับว่าเฉียดฉิวกับสต๊อกวัตถุดิบของผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ว่ากันว่าเหลือผลิตได้อีก 2 เดือน ขออวยพรให้หาแหล่งนำเข้าได้และดำเนินการได้ทันตามระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด เพราะกว่าเงื่อนไขการนำเข้าฉบับสมบูรณ์จะออกมาคงกินเวลาอีกไม่น้อยกว่า 15 วัน พิจารณาแล้วเวลาที่เหลือไม่น่าจะนำเข้าได้ในปริมาณที่ต้องการ
นอกจากนี้ วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญอีก 1 ชนิด ที่ยังไม่มีบทสรุปในการยกเลิกมาตรการภาษี คือ กากถั่วเหลือง รัฐไปไม่สุดหยุดภาษีนำเข้าไว้ที่ 2% เก็บไว้เป็นกุศโลบายถ่วงดุล
ปัจจุบัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขาดแคลนและแพงจนยากจะเข้าถึง โดยราคาเฉลี่ยปรับสูงขึ้นไปถึง 13 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เมื่อเทียบกับราคาประกันขั้นต่ำ(โครงการประกันรายได้ข้าวโพด)ที่รัฐบาลกำหนด 8.50 บาทต่อกก. ถือว่าเป็นราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ ตลอดจนวัตถุดิบอื่นเช่น ข้าวสาลี ราคาปรับขึ้นไปเป็น 13 บาทต่อกก. เท่ากับข้าวโพด จากราคาเมื่อเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 8.91 บาทต่อกก. จึงไม่จูงใจให้นำเข้ามาเป็นวัตถุดิบทดแทนในอาหารสัตว์เพื่อแก้ปัญหาข้าวโพดขาดแคลนอีกต่อไป
ไทย ในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารชั้นนำระดับโลก กำลังแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลนและมีราคาสูง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลผลิตในประเทศมีเพียง 5 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 8 ล้านตัน ต้องมีการนำเข้าทดแทนส่วนที่ขาด 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา เป็นหลักประมาณปีละ 1.5-1.8 ล้านตัน แต่หนทางการนำเข้าก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขไว้หลายชั้นทั้งสัดส่วนการนำเข้าและภาษีนำเข้า เป็นเกราะป้องกันเกษตรกรชาวไร่ในประเทศ
การพิจารณาใช้มาตรการทางภาษีและโควตานำเข้านั้นเหมาะกับสถานการณ์ปกติ แต่สถานการณ์ขาดแคลนและราคาแพงในปัจจุบันอยู่ในภาวะไม่ปกติ จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไข ให้อุปทาน (Supply) หล่อเลี้ยงห่วงโซ่การผลิตอย่างเพียงพอและราคาไม่สูงจนเกินไป และเมื่อผลิตเป็นสินค้าออกมาต้องอนุญาตให้ปรับราคาได้ตามสมควร หากขาดปัจจัยเหล่านี้เกษตรกรจะขาดความมั่นใจในการลงทุน
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์ประกาศยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน(มาตรการ 3 : 1)เป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลกำหนดให้มีการนำเข้าในแต่ละปี เพื่อไม่ให้กระทบกับผลผลิตในประเทศที่จะออกสู่ตลาดช่วงเดือนกันยายน การให้นำเข้าครั้งนี้เปรียบเสมือนการอนุญาตเชิงสัญลักษณ์มากกว่า
ตอนนี้งานหลักของกรมปศุสัตว์อีกหนึ่งงาน คือ การตรวจสอบจับกุมโรงงานผลิตอาหารสัตว์เถื่อนและการลักลอบนำเข้าวัตถุดิบมาผลิต นับเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่มีโอกาสได้อาหารสัตว์ไม่มีคุณภาพ สัตว์ไม่โตตามวัย จนต้องใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้นซึ่งมีผลต่อต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น การแก้ปัญหาของรัฐครั้งนี้จึงไม่น่าตอบโจทย์และล่าช้าเกินไป
ปัญหาการขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศจึงยังคาราคาซัง หาที่ร่อนลงแบบนุ่มนวลไม่ได้ (soft landing) สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ย้ำว่าสต๊อกข้าวโพดสมาชิกที่มีอยู่จะผลิตอาหารสัตว์ได้อีกประมาณ 2 เดือน หากยังไม่สามารถนำเข้าได้ในเร็ววันนี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์อาจจะต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ห่วงโซ่การผลิตภาคปศุสัตว์จะหยุดชะงัก ความเดือดร้อนจะบังเกิดกับผู้บริโภคที่ต้องเผชิญของขาดของแพงอีกครั้ง