“โคเวสโตร” ทุ่ม 2 หมื่นล้าน ลดก๊าซเรือนกระจก 60% ปี 73

10 เม.ย. 2565 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2565 | 16:31 น.

โคเวสโตร เป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัสดุโพลิเมอร์และส่วนประกอบทางโพลิเมอร์คุณภาพสูงชั้นนำของโลก ด้วยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และวิธีการที่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตในหลายแง่มุม

 

โคเวสโตร ให้บริการลูกค้าทั่วโลกในอุตสาหกรรมหลัก เช่น การเดินทางและการขนส่ง อาคารและที่อยู่อาศัย ตลอดจนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ โพลีเมอร์จากโคเวสโตร ยังใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น กีฬาและสันทนาการ เครื่องสำอางและสุขภาพ ตลอดจนในอุตสาหกรรมเคมีด้วย

 

โคเวสโตร สร้างยอดขายได้ประมาณ 15.9 พันล้านยูโรในปีงบประมาณ 2564 บริษัทมีโรงงานผลิต 50 แห่งทั่วโลกและมีพนักงานประมาณ 17,900 คน รวมถึงประเทศไทย

 

 

นายมาร์คุส สไตเลอแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโคเวสโตร กล่าวว่า บริษัท ได้กำหนดวิสัยทัศน์องค์กรเพื่อมุ่งสู่การหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ หนึ่งในมาตรการสำคัญตามแนวทางนี้คือความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ โดยกลุ่มบริษัท โคเวสโตร ตั้งเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas หรือ GHG ) ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2578

 

โดยในปี 2573 บริษัทมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 60% จากการดำเนินกิจกรรมในส่วนการผลิตของบริษัทเอง (scope 1) และจากแหล่งพลังงานจากภาย นอก (scope 2) หรือลดลงไปที่ 2.2 ล้านเมตริกตันภายในปี 2573 จากฐานปี 2563 ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยูที่ 5.6 ล้านเมตริกตัน

 

“โคเวสโตร” ทุ่ม 2 หมื่นล้าน  ลดก๊าซเรือนกระจก 60% ปี 73

 

นอกจากนี้ จะทำการลดการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมตลอดกระบวนการผลิต (scope 3) ควบคู่ไปด้วย ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมาโคเวสโตรได้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มาจากการผลิตต่อเมตริกตันลง 54% เมื่อเทียบกับปี 2548 ถือว่าสำเร็จเกินกว่าเป้าหมายความยั่งยืนที่กำหนดไว้สำหรับปี 2568

 

การบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์นี้ จะมีการทยอยลงทุนในแต่ละปีประมาณ 100 ล้านยูโร ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดราว 600 ล้านยูโร หรือประมาณ 21,00 ล้านบาท ภายในปี 2573 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ 100 ล้านยูโรต่อปีหรือประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี

 

นายมาร์คุส สไตเลอแมน กล่าวอีกว่า ในเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ จะสามารถปกป้องสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติ และทรัพยากร เพื่อบรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืนที่เคารพขอบเขตและขีดจำกัดของโลกโคเวสโตรและอุตสาหกรรมเคมีเป็นส่วนหนึ่งของทางแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งความยั่งยืนไม่สามารถทำสำเร็จได้โดยลำพัง ต้องอาศัยความพยายามที่มากขึ้นจากทุกฝ่ายเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย”

 

ทั้งนี้ การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โคเวสโตรทั่วโลก ได้ดำเนินงานใน 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ 1.การปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อให้เกิดการผลิตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ที่นำไปสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ผ่านการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมตัวเร่งปฏิกิริยา พร้อมกับนำระบบเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ควบคุมโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น และยังช่วยประมวลและติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซตลอดห่วงโซ่คุณค่าได้อีกด้วย 

 

2.โรงงานผลิตของโคเวสโตรทั่วโลกจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทน รวมถึงการใช้พลังงานลมนอกชายฝั่ง เช่น มีการสนับสนุนความร่วมมือ เช่น ผ่านความตกลงการซัพพลายพลังงานกับบริษัทจัดหาพลังงาน Ørsted ซึ่งจะครอบคลุมความต้องการใช้พลังงาน 10 % ของโรงงานของบริษัทในประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2025 เป็นต้นไป มีการนำพลังงานลมบนชายฝั่งมาใช้ เช่น ภายใต้ความตกลงการซื้อพลังงานจาก ENGIE ที่ครอบคลุมความต้องการใช้พลังงาน 45% ของโรงงานโคเวสโตรในเมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม หรือโรงงานโคเวสโตรที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ประมาณ 10% มาจากโซลาร์ ปาร์คของบริษัท Datang Wuzhong New Energy รวมถึงยังมีแผนที่จะทำความตกลงอื่นๆ เพื่อให้บรรลุปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สุทธิที่เป็นศูนย์

 

 3.การนำพลังงานสะอาด เช่น ก๊าซชีวภาพ ก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และไฟฟ้าที่ได้จากแหล่งธรรมชาติ ใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน แหล่งพลังงานจากฟอสซิลสำหรับการผลิตไอน้ำ

 

นายมาร์คุส สไตเลอแมน กล่าวเสริมอีกว่า นอกจากนี้โคเวสโตร ยังได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ทุกชนิดในรูปแบบที่เป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ ที่มุ่งเน้นเปลี่ยนกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ให้เป็นไปตามหลักการหมุนเวียนในระยะยาว และตั้งใจที่จะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศของบริษัทและลูกค้าในเวลาเดียวกัน อาทิ การผลิตเมทิลีนไดฟีนิลไดไอโซไซยาเนต หรือ MDI ที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตโฟมโพลียูรีเทน (PU) ที่มีการใช้เป็นจำนวนมากเป็นฉนวนกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูงมากสำหรับอาคารและตู้เย็น

 

ปัจจุบันโคเวสโตรได้เพิ่ม MDI ที่มีความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เข้าสู่สายผลิตภัณฑ์ ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ฉนวนกันความร้อน PU จะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2  ได้เทียบเท่ากับ 40 ล้านเมตริกตัน

 

รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่มาผลิตโพลีคาร์บอเนต ที่มีความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ แบบแรกของโลก ที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบจากของเสียที่เป็นสมดุลมวลสารชีวภาพและวัสดุเหลือใช้ มาใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี เช่น การใช้ตัวชาร์จ EVโพลีคาร์โบเนต ที่มีความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ สามารถประหยัดพลังงานเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้มากถึง 450 กิโลตันภายในปี 2573 ซึ่งผลิตภัณฑ์ของโคเวสโตรนี้ ได้ถูกส่งไปยังลูกค้าแล้วตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3773 วันที่ 10-13 เมษายน 2565