นายพิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด เจ้าของและผู้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี (หรือนิคมกรีนอุดรธานี) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ได้ร่วมประชุมคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน ในการบูรณาการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบสื่ออีเล็กทรอนิกส์ เพื่อหาแนวทางและรวบรวมข้อมูลการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรุไฟไทย-ลาว-จีน
ที่ประชุมหารือถึงปัญหาการขนส่งทุเรียนของไทย ที่กำลังจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดในเดือนหน้านี้ และส่วนหนึ่งจะส่งออกไปยังตลาดประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมานั้นทำการขนส่งโดยทางรถบรรทุก และมีปัญหาเป็นประจำ เมื่อมีรถไฟจีน-ลาว เปิดให้บริการระหว่างจีน-ลาวแล้ว และมีการบริหารจัดการส่วนหนึ่งเป็นขบวนรถสินค้า หากจะต้องเปลี่ยนการขนส่งทุเรียนมาเป็นทางรถไฟจีน-ลาวแล้ว จะมีวิธีการอย่างไร ต้องเตรียมการอย่างไร
เนื่องจากรถไฟจีน-ลาว มีจุดสิ้นสุดอยู่ที่เวียงจันทน์ รวมถึงปัญหาที่ทางการจีนยังเข้มงวดในการควบคุมเชื้อโควิค-19 ด้วยนโยบาย"ซีโร่โควิด ซึ่งจะต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์ของจีนในการบรรทุกเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ในระดับกระทรวงต้องมีการประสานงานกับทางการจีน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา เพราะการขนส่งทางรางจะมีความสะดวกและประหยัด
"ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงหาแนวทาง ในการจะทำการขนส่งสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะผลไม้จากประเทศไทย ไปกับขบวนรถไฟจีน-ลาว ที่ยังมีข้อติดขัด จากมาตรการควบคุมเชื้อโควิค-19 ของจีน ที่ต้องเป็นซีโร่โควิด ขณะที่โครงข่ายระบบรถไฟไทย ลาว และจีน ยังเชื่อมต่อกันไม่ครบสมบูรณ์
จึงหาทางกันว่า ทำอย่างไรที่ทุเรียนไทย ที่กำลังจะมีผลผลิตออกตามฤดูกาลในเดือนหน้านี้ จะสามารถมีช่องทางขนส่งไปตลาดประเทศจีนได้เพิ่มขึ้น นอกจากขนด้วยรถบรรทุกทางถนน ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเกิดความเสียหาย"
นายพิสิษฎ์กล่าวต่อว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมดังกล่าว จึงได้ปรึกษาหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ถึงปัญหาการขนส่งทุเรียนไทย ไปยังตลาดจีนทุก ๆ ปีที่ผ่านมา และปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการรถไฟไทย ลาว และจีน เวลานี้ ผู้บริหารระดับสูงของโครงการนิคมอุตสากรรมอุดรธานีเห็นว่า เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับการขนส่งทุเรียน และเป็นเรื่องของการบริการสังคม ( CSR )
โดยเห็นชอบให้ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ่อค้ารับซื้อคนกลางทุเรียน นำล้ง(ผู้ส่งออก) เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจคุณภาพทุเรียน เจ้าหน้าที่พิธีการทางด้านศุลกากร ฯลฯ เข้ามาใช้พื้นที่บางส่วนที่เป็น CY และอาคารคลังสินค้าของนิคมฯ เป็นจุดรวบรวมทุเรียน และให้เป็นจุดบริการกระบวนการต่าง ๆ ทางด้านส่งออกทุเรียนไปประเทศจีน ตั้งแต่ต้นทางในรูปแบบของการบริการจบในจุดเดียว (One Stop Services-OSS) เสร็จแล้วขนบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ ไปเปลี่ยนขึ้นขบวนรถไฟสินค้า ลาว-จีน ที่ท่าเรือบกเวียงจันทน์ได้เลย โดยทางโครงการไม่คิดค่าใช้จ่ายการใช้พื้นที่ เพียงจ่ายไฟฟ้า ค่าน้ำ และค่าสาธารณูปโภค เท่านั้น
ทั้งนี้ หลังจากทางการสปป.ลาว เปิดเดินรถไฟจีน-ลาว ที่ก่อสร้างมาถึงนครหลวงเวียงจันทน์แล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค. 2564 แต่เป็นช่วงสถานการณ์โควิด จึงเปิดเดินรถโดยสารเฉพาะในเขตประเทศ ส่วนขบวนรถสินค้า ได้ทดสอบการขนส่งและเปิดให้บริการแล้ว แต่ระบบรถไฟไทยยังไม่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟจีน-ลาว
นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน ในการบูรณาการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน โดยมี ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงาน มีคณะทำงานประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ต่าง ๆ
มีหน้าที่เสนอแนะการจัดทำแผนการขส่งสินค้าทางรถไฟ ระหว่างไทย ลาว และจีน เสนอแนะนโยบายการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน เสนอแนะการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาวและจีน เพื่อผลักดันให้มีความคืบหน้า และดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติ
บูรณาการข้อมูลการค้า การส่งออก และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง สำหรับการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบูรณาการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน จึงเป็นที่มาของข้อเสนอดังกล่าว