วันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน ผู้สูงวัยต้องเก็บเงินกี่ล้านใช้ยามเกษียณ

12 เม.ย. 2565 | 23:07 น.

วันที่ 13 เมษายน วันผู้สูงอายุแห่งชาติ พบสัญญาณน่าเป็นห่วงหลังโครงสร้างประชากรไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย สศช.ชี้วัยแรงงานต้องเก็บเงินเป็นหลักล้านถึงไม่ต้องง้อลูกหลาน ไปเช็คข้อมูลกันว่า หากต้องการเกษียณอย่างมีความสุขต้องเก็บเงินให้ได้เท่าไหร่กัน

วันที่ 13 เมษายน นอกจากเป็นวันสงกรานต์วันแรกแล้ว ยังมีความสำคัญอีกอย่างคือ เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ อีกด้วย ทุก ๆ ปี มักมีกิจกรรมต่อเนื่องกันตั้งแต่ช่วงเช้า หลังจากทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับแล้ว หลายคนยังใช้โอกาสนี้รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้สูงอายุกันอีกด้วย

 

โดยความเป็นมาของวันผู้สูงอายุแห่งชาติ คงต้องย้อนไปไกลถึงสมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2525 ซึ่งคณะรัฐมนตรีขณะนั้น ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ มีคณะกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุเป็นประจำทุกปี

 

การดำเนินการดังกล่าวได้ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน โดยนอกจากการรดน้ำดำหัวขอพรตามประเพณีแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ ยังจัดกิจกรรมเพื่อตอบแทนผู้สูงอายุ ทั้งการใช้ระบบขนส่งสาธารณะฟรี หรือการได้ส่วนลดในการเข้าไปกินอาหาร หรือเข้าไปใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ ด้วย

สำหรับปัจจุบันนี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย สิ่งสำคัญตอนนี้คือ การเก็บเงินเพื่อเอาไว้ใช้ในยามเกษียณ ไม่นานมานี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยข้อมูลทางด้านภาวะสังคมไทย พบว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 

 

ตามการเปลี่ยนแปลงทั้งภาวะเจริญพันธุ์ และการพัฒนาของระบบสาธารณสุขที่ทำให้คนมีอายุยาวนานขึ้น โดยอัตราการเจริญพันธุ์รวมของไทยลดลงจาก 2.0 ในปี 2538 เหลือเพียง 1.5 ในปี 2564 ซึ่งมีจำนวนเด็กเกิดใหม่เหลือไม่ถึง 5.5 แสนคน จากเดิมที่มีจำนวนกว่า 8.2 แสนคนในปี 2555

 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมอย่างสมบูรณ์ ในปี 2566 และจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ในปี 2576 ทำให้ภาวการณ์พึ่งพิงจากเดิมที่อัตราส่วนพึ่งพิงรวมอยู่ที่ 54.8% ในปี 2564 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 57.2% ในปี 2566 และ 71.3% ในปี 2576 

 

ส่งผลให้ในอีก 10 ปีข้างหน้า วัยแรงงาน 100 คน ต้องดูแลเด็ก และผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 55 คน เป็น 72 คน ซึ่งไม่เพียงจะเป็นภาระต่อวัยแรงงานแต่ยังกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น กำหนดนโยบายของภาครัฐจึงต้องมีการพัฒนาทุกช่วงวัยอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ สศช.ได้นำระบบบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (National Transfer Account: NTA) เป็นการผนวกโครงสร้างอายุของประชากรเข้ากับรายได้ประชาชาติ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือชนิดใหม่ที่ทำให้ทราบถึงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของประชากรในแต่ละอายุ และการเกื้อกูลระหว่างกันของภาคครัวเรือน รวมทั้งนโยบายของรัฐที่เข้ามาช่วยเหลือหรืออุดหนุนให้กับประชากรในแต่ละช่วงวัย พบข้อมูลสำคัญ ดังนี้ 

 

เมื่อพิจารณาข้อมูลการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยทำให้ทราบว่า หากวัยแรงงานต้องการวางแผนเกษียณที่จะอยู่ได้จนถึงอายุ 90 ปี ต้องมีค่าใช้จ่าย 3.1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่รัฐสนับสนุน) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภครองรับการวางแผนเกษียณอายุของตนเอง

 

นอกจากนี้ หากคนวัยแรงงานต้องการเลี้ยงดูเด็กจนถึงอายุ 21 ปี หรือตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน จะต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาท (หักค่าใช้จ่ายที่รัฐสนับสนุน) 

 

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าหากวัยแรงงานอาศัยอยู่ร่วมกับเด็ก 1 คน และผู้สูงอายุ 1 คน โดยที่เด็กและผู้สูงอายุไม่สามารถหารายได้ได้เลย แรงงานคนดังกล่าวจะต้องหารายได้เบ็ดเสร็จรวมแล้วถึง 7.7 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภคของเด็ก ผู้สูงอายุ และการวางแผนเกษียณอายุของตนเอง

 

สศช. ยังเปิดข้อมูลอีกว่า ด้วยโครงสร้างของสังคมสูงวัยที่เกิดขึ้นดังกล่าว ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจากโครงสร้างประชากรของไทยที่เป็นสังคมสูงวัยมากขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แยกเป็นช่วงปี ดังนี้

  • ปี 2564 การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวอยู่ที่ 2.6% 
  • ปี 2566 การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวลดลงเหลือ 2.5%
  • ปี 2576 การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวลดลงเหลือ 2.1%

 

ขณะเดียวกันจากโครงสร้างประชากรที่มีวัยแรงงานลดลง ยังเป็นปัจจัยสำฉุดรั้งให้เศรษฐกิจหดตัวลงเฉลี่ยประมาณ 0.5% ต่อปีด้วย