รถไฟทางคู่ เฟส 1 กว่า 8.2 หมื่นล้าน ดีเลย์เซ่นพิษโควิด

15 เม.ย. 2565 | 01:00 น.

รฟท.อัพเดตแผนรถไฟทางคู่ เฟส 1 จำนวน 5 เส้นทาง วงเงิน 8.2 หมื่นล้าน เผยบางสัญญาติดหล่มเวนคืน-โควิดพ่นพิษหนัก กระทบเอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันรฟท.ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 10,232 ล้านบาท และ 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 24,326 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยทั้ง 2 เส้นทางเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2562

 

 

ส่วนอีก 5 เส้นทางอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง รวมวงเงิน 82,581 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 18,699 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม ระยะทาง 32 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานสะสมอยู่ที่ 68.17% โดยดำเนินการก่อสร้างเป็นทางยกระดับเพื่อหลีกเลี่ยงแนวเส้นทางที่ไม่ผ่านพระปรางค์สามยอดตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จึงดำเนินการก่อสร้างใช้เขตทางหลวงหมายเลข 366 แต่เนื่องจากเขตทางไม่พอ ทำให้ต้องยกระดับความสูงจากระดับพื้นดินถึงระดับสันรางรถไฟที่ 10-20 เมตร คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จมิถุนายน 2565 สัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กิโลเมตร (กม.) ความก้าวหน้างานสะสมอยู่ที่ 70.94% สัญญาที่ 3 ระบบอาณัติสัญญาณ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2566

 

 

 

ขณะที่ 2.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 29,900 ล้านบาท ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างมีความคืบหน้า 91.8% โดยสัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร 58 กม. คืบหน้า 93.52% ช้ากว่าแผน 6.48% ยังมีปัญหา รฟท. ส่งมอบพื้นที่เวนคืนบางส่วนประมาณ 7% ให้ผู้รับจ้างล่าช้า เนื่องจากค่าทดแทนเดิมไม่เพียงพอ และ พ.ร.ฎ.เวนคืนหมดอายุ ซึ่งปัจจุบัน รฟท. เสนอขอเพิ่มกรอบวงเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โครงการฯ อีกประมาณ 286 ล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว เบื้องต้นทราบว่าอยู่ในขั้นตอนสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป จากนั้น รฟท.จึงจะสามารถส่งมอบพื้นที่ เพื่อให้ผู้รับจ้างก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 2565

สัญญาที่  2 ช่วงคลองขนานจิตร– ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 68 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบัน รฟท. ได้รับข้อร้องเรียนจากเทศบาลบ้านใหม่ จ.นครราชสีมา ให้ปรับแบบก่อสร้างให้เป็นทางรถไฟเป็นโครงสร้างยกระดับ ทดแทนคันดินยกระดับ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมร่วมกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณามอบหมายแนวทางได้เร็วๆนี้ จากนั้นจึงจะเสนอรายงานขออนุมัติดำเนินโครงการได้ตามขั้นตอนต่อไป

 

 

 


ส่วนสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร (กม.) คืบหน้า 90.03% ล่าช้ากว่าแผน 9.96% ยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่เวนคืนบางส่วน ซึ่งพื้นที่ของโครงการบางส่วนยังไม่ได้รับการมอบพื้นที่ โดย รฟท. ต้องรอ ครม. เห็นชอบการขอเพิ่มกรอบวงเงินฯ และดำเนินการเช่นเดียวกับสัญญาที่ 1 นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาแรงงานที่ทำงานในสัญญาที่ 3 ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 200-300 คน ปัจจุบันหายดี และกลับมาทำงานได้ปกติแล้ว และสัญญาที่ 4 งานจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม คืบหน้า 11.17% ช้ากว่าแผน 29.54% โดยสาเหตที่ล่าช้า เนื่องจากขอบเขตงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณฯ อยู่ในพื้นที่สัญญาที่ 2 ประมาณ 50% ทำให้ รฟท. ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างในส่วนนี้ได้ คาดว่าจะเปิดให้บริการเดินรถในช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ได้ก่อนในปี 2566 ขณะที่ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2568 เปิดให้บริการปลายปี 2569 ล่าช้ากว่าแผนเดิมของ รฟท. ที่มีเป้าหมายจะเปิดให้บริการทั้งโครงการในปี 2565
 

รายงานข่าวจากรฟท.กล่าวต่อว่า 3.ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 15,718  ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานสะสมอยู่ที่ 97.02% และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน ระยะทาง 76 กิโลเมตร (กม.)ความก้าวหน้างานสะสมอยู่ที่ 92.068%  ทั้ง 2 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานสะพานขึงแม่น้ำแม่กลอง โดยมีการขยายสัญญาออกไป 20 เดือน จากเดิมระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน เนื่องจากติดปัญหาผู้บุกรุกเมืองหัวหิน คาดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 4.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5,807 ล้านบาท  ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน แผนงาน 100% มีความคืบหน้า 99.94 % ขณะนี้ก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ

 

 


5.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 12,457 ล้านบาท แบ่งงาน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย 88 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 33 เดือน แผนงาน 100 % มีความคืบหน้า 84.47%

 


สัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ระยะทาง 79 กิโลเมตร (กม.) ความก้าวหน้าของงานอยู่ที่ 85.36% มีระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 มกราคม 2564 แต่ได้รับการอนุมัติขยายเวลาออกไปเป็นวันที่ 30 เมษายน 2565 ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน และสัญญาระบบอาณัติสัญญาณช่วงนครปฐม-ชุมพร คาดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2566

 


รายงานข่าวจากรฟท. กล่าวต่อว่า สาเหตุที่การก่อสร้างบางสัญญาล่าช้าและมีการขยายเวลาการก่อสร้างออกไป เนื่องจากได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งมาตรการคุมเข้มของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน แต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเบาบาง ทำให้แรงงานเริ่มกลับเข้ามาทำงานตามปกติ