รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทล.โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 สาย บางปู – อ.บางปะกง ระหว่าง กม.47+450 – กม.76+022 ระยะทาง 28.75 กิโลเมตร งบประมาณ 2,175,236,534 บาท แล้วเสร็จ ในพื้นที่ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ถึง อำเภอบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้มีการปรับปรุงขยายช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 3 สาย บางปู – อ.บางปะกง ซึ่งเป็นทางหลวงช่วงสุดท้ายที่ยังคงเป็น 2 ช่องจราจร มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในบริเวณพื้นที่เป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงให้สมบูรณ์ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของทางหลวง การเดินทางและการขนส่งสินค้าได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย และเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกโดยสามารถขนส่งสินค้าจากทางด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี มาที่สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ได้อีกเส้นทางหนึ่ง
สำหรับโครงการก่อสร้างสายแยกทางหลวงหมายเลข 3 สาย บางปู – อ.บางปะกง แบ่งการก่อสร้างเป็น 5 ตอน ระหว่าง กม.47+450 – กม.76+022 ระยะทางยาวประมาณ 28.75 กิโลเมตร ในพื้นที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โครงการดังกล่าวเป็นงานก่อสร้างขยายช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 3 ก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 6 ช่องจราจร ขยายคันทางจาก 2 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ ข้างละ 3 ช่องจราจร) กว้างช่องละ 3.5 เมตร ผิวทางและไหล่ทางเป็นแอสฟัลท์คอนกรีต ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบยก กว้าง 5.1 เมตร รวมคอนกรีตแบริออร์ กว้างข้างละ 0.7 เมตร พร้อมทั้งก่อสร้างคันกั้นน้ำและการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้กรมทางหลวงตระหนักถึงความสำคัญในการคมนาคมขนส่งที่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนและรองรับการพัฒนาทางหลวงรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ปัจจุบันทางหลวงหมายเลข 3 หรือถนนสุขุมวิท มีปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน เกิดวามสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทางทำให้โครงข่ายทางหลวงและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดการเกิดอุบัติเหตุบนถนน ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคให้ดีขึ้น