​“พาณิชย์”ไฟเขียวแผนอีคอมเมิร์ซ เฟส 2  ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าปี70

21 เม.ย. 2565 | 10:44 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2565 | 17:52 น.

“พาณิชย์” ไฟเขียวแผนอีคอมเมิร์ซ เฟส 2 ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 7.1 ล้านล้านในปี 70  เตรียมเดินหน้าพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล สภาพแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่น และพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2565 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) แห่งชาติ ระยะที่ 2 ครอบคลุมปี 2566-2570 เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อน e-commerce ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ว่าภายในปี 2570 จะมีมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ 7.1 ล้านล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 10%

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นับจากปี 2564 ที่มีการสำรวจโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ล่าสุด โดยพบว่ามูลค่า e-Commerce ภายในประเทศไทยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.01 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.08% จากปี 2563 ที่มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3.78 ล้านล้านบาท

 

 

สำหรับร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ของแผนไว้ทั้งสิ้น 4 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนากำลังคน พลเมือง และผู้ประกอบการดิจิทัล (Competency Building) 2.การพัฒนาสภาพแวดล้อม และปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecosystem and Enabling Factors)

​“พาณิชย์”ไฟเขียวแผนอีคอมเมิร์ซ เฟส 2  ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าปี70

3.การยกระดับความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกรรมในอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trust and Security) และ 4.การพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ และส่งเสริมการค้าออนไลน์ทั้งภายในประเทศและข้ามพรมแดน (Enhance and Promotion)

 

​“พาณิชย์”ไฟเขียวแผนอีคอมเมิร์ซ เฟส 2  ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าปี70

         ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ มีแผนที่จะเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการไทย รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดี เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก โดยการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น ส่งเสริมการขยายตลาดสินค้ากลุ่ม BCG (Bio-Circular-Green Economy) ในยุค New Normal ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการเจรจาการค้าออนไลน์ (OBM) เป็นต้น

คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน เช่น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เป็นต้น เพื่อร่วมขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย และมุ่งเป้าให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยเติบโต เท่าทัน ครบครัน มั่นใจ ปลอดภัย ยั่งยืน