"สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า" หรือชาวบ้านเรียกติดปาก”สะพานปิ่นเกล้า”สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอายุเก่าแก่ ก่อสร้างเพื่อใช้สัญจรเชื่อมโยงระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี
ให้เดินทางไปมาหาสู่กันได้สะดวกรวดเร็ว แต่เนื่องจาก สะพานแห่งนี้เปิดใช้งานมาเป็นเวลานานเกือบ50ปีถึงเวลาปิดซ่อมแซมในเป็นบางช่วงเพื่อความปลอดภัยและสะดวกต่อการสัญจรของประชาชนต่อไปในระยะยาว
เมื่อวันที่22เมษายน 2565รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยสำนักบำรุงทาง ระบุว่า กรมมีแผนดำเนินโครงการบูรณะสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเขตพระนคร, เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของสะพานให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
โดยให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกปลอดภัย ซึ่งในบางขั้นตอนจะต้องใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ในการดำเนินงาน ทช.จึงมีความจำเป็นต้องปิดเบี่ยงการจราจร (บางช่องทาง) บนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
เพื่อบูรณะโครงสร้างสะพาน โดยจะเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ตั้งแต่เวลา 22.00 น. – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่จะสัญจรผ่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โปรดหลีกเลี่ยงเส้นทางในวันและเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ว่าที่ร้อยตรีถิรวัจน์ ผกผ่า วิศวกรโยธาชำนาญการ หมายเลขโทรศัพท์ 09 8145 6935 สำนักบำรุงทาง กรมทางหลวงชนบท
สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า หรือที่นิยมเรียกกันว่า สะพานพระปิ่นเกล้า หรือ สะพานปิ่นเกล้า เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าระหว่างเขตพระนคร (ฝั่งพระนคร) กับเขตบางกอกน้อย (ฝั่งธนบุรี) กรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบทสะพานพระปิ่นเกล้าเป็นสะพานแบบคอนกรีตอัดแรงชนิดต่อเนื่อง มีจำนวนช่องทางรถวิ่ง 6 ช่องทางจราจร ความกว้างของสะพาน 26.60 เมตร ความยาว 622 เมตร สร้างขึ้นเพื่อผ่อนคลายความคับคั่งของการจราจร
โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ในการสำรวจออกแบบสะพาน และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลไทย โดยให้เงินกู้สมทบกับเงินงบประมาณของรัฐบาลไทย เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2514 และสร้างเสร็จทำพิธีเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2516
ได้รับพระราชทานนามว่า "สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพื้นที่ของสะพานทางฝั่งพระนครนั้นเคยเป็นเขตของพระราชวังบวรสถานมงคล