นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ในอ่าวไทย ประกอบด้วยแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข 15 ที่จะสิ้นอายุสัมปทานในเดือนเมษายน 2565 และแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข 16 และ 17 ที่จะสิ้นอายุสัมปทานในเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลได้ต่อระยะเวลา 10 ปีในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี
โดยมีแท่นผลิตปิโตรเลียมที่รัฐจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อจำนวน 46 แท่น และแท่นที่รัฐไม่นำไปใช้ประโยชน์ 4 แท่น ได้ดำเนินการส่งมอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง เพื่อไปดำเนินการเป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาสัญญาพีเอสซีแล้ว
สำหรับการส่งมอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ของผู้รับสัมปทานโดยเป็นขั้นตอนหนึ่งภายใต้แผนงานส่งมอบสิ่งติดตั้งตามที่ ได้กำหนดไว้ในข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้ง (Asset Transfer Agreement) ของแหล่งบงกชที่ได้ลงนามร่วมกันระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และปตท.สผ. ในฐานะผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม เพื่อให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินำไปใช้จ่ายในการดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบแทน ปตท.สผ. ภายหลังสิ้นอายุสัมปทานของแหล่งบงกช และไม่ใช้งานสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบแล้ว
ทั้งนี้ ก่อนการส่งมอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งดังกล่าวนี้ ปตท.สผ. ได้ส่งมอบเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบ รวมถึงเอกสารสนับสนุนการผลิตอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ ในการบริหารจัดการสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) ต่อจาก ปตท.สผ. ให้สามารถดำเนินการผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่องหลังสิ้นอายุสัมปทาน เพื่อรักษาความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
แหล่งข่าวจากวงการปิโตรเลียม เปิดเผยว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การส่งมอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเลครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเล เช่น แท่นผลิตปิโตรเลียม จำนวน 46 แท่น ที่รัฐรับมอบนำไปใช้ประโยชน์ ขณะที่แท่นผลิตปิโตรเลียมจำนวน 4 แท่น ที่รัฐไม่รับมอบไป ปตท.สผ.จะต้องทำการรื้อถอน คาดว่าจะใช้ค่าใช้จ่ายกว่า 1.5 พันล้านบาท โดยไม่รวมอยู่ในค่าใช้จ่ายก้อนนี้ที่จะถูกนำไปใช้ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ส่วนการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเลของแหล่งเอราวัณ หลังสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565 นี้ ได้รับทราบว่าทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้อนุมัติแผนการดำเนินงานในการรื้อถอนแท่นของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แล้ว แต่ยังมีปัญหาว่า การเจรจาในเรื่องการวางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นจำนวน 142 แท่น ที่รัฐจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อนั้น ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ และคงจะเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อจนกว่า การฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการจะได้ข้อยุติ