นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงาน ว่า ในปี 2565 กลุ่มบริษัทยังคงใช้กลยุทธ์การบริหารงานภายใต้ความเสี่ยงต่าง ๆ ใน 3 ด้าน ได้แก่
1.การต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าให้แก่ทุกโมเลกุลที่ผลิต (Hydrocarbon Value Chain Maximization) โดยการเร่งหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจปิโตร เคมีต่อยอดจากธุรกิจการกลั่นน้ำมันเพิ่มเติม จากธุรกิจโตรเคมีกลุ่มอะโรเมติกส์ที่มีอยู่ในปัจจุบันไปยังธุรกิจกลุ่มโอเลฟินส์
2.การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการเติบโต (Supply Chain Management as a Growth Platform) เพื่อสร้าง Platform ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การบริการลูกค้า การส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าในภูมิภาค ผ่านการบริหารจัดการระบบกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ของบริษัทในกลุ่มที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ
3.การกระจายความเติบโตเพื่อลดความผันผวนของกำไร (Earnings Diversification) ไปยังธุรกิจที่มีรายได้ที่มั่นคง รวมถึงธุรกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือธุรกิจใหม่เชิงนวัตกรรมที่สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต (New S-Curse) รองรับความผันผวนจากธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี โดยมีเป้าหมายในปี 2573 จะมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจการกลั่น 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 10% และธุรกิจใหม่ 10 %
“กลยุทธ์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นการบริหารความเสี่ยงภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กลุ่มบริษัทเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนตํ่า ที่มีเป้าหมายที่ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี 2603 ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแก่ที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26)”
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทได้จัดทำแผนการลงทุนโครงการในอนาคตไว้ 4 ปี (2564-2567) จำนวน 3,431 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.13 แสนล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) แยกเป็น โครงการพลังงานสะอาด (CFP) 1,902 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินลงทุนในธุรกิจโอเลฟินส์ 1,183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 201 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น โครงการปรับปรุงหน่อยผลิตต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ โครงการลงทุนด้านโลจิสติกส์และสาธารณูปโภค โครงการลงทุนอื่น ๆ เป็นต้น
อีกทั้ง ลงทุนในโครงการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัท ท็อป เอสพีพี จำกัด จาก 239 เมกะวัตต์ เป็น 379 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปี 2564 ที่ผ่านมาใช้เงินลงทุนไปแล้วราว 3.5 หมื่นล้านบาท
นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการพลังงานสะอาด ถือว่าเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขั้นปลายได้มาก เนื่องจากโครงการนี้ เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน มูลค่าราว 4,174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถกลั่นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่มีมูลค่าสูง เช่น นํ้ามันอากาศยานและนํ้ามันดีเซล รองรับความต้องการในอนาคตได้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการใช้นํ้ามันดิบ หนัก (Heavy Crude) สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขั้นปลายได้มาก
เห็นได้จากปีที่ผ่านมา การขายผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ เช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล และไบโอเอทานอล สามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผู้ใช้ขั้นปลายได้ราว 810,593 ดันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งโครงการดังกล่าวปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้ากว่า 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566
ขณะที่การลงทุนในโครงการขยายกำลังการการผลิตไฟฟ้าและไอนํ้าของบริษัท ท็อป เอสพีพี จำกัด เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะสิ้นสุดลงในปี 2566 นั้น จะช่วยให้บริษัทสะสมคาร์บอนเครดิตได้เพิ่มมากขึ้น
ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ผ่านการประเมินและได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program :T- VER) ประเภทการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานที่มีการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในระดับสากล ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองสะสมรวมทั้งสิ้นกว่า 953,629 ตันคาร์บอน ไดออกไซด์เทียบเท่า
อีกทั้ง จากการมีสัดส่วนหุ้นกว่า 10% ในบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ 8 พันเมกะวัตต์ในปี 2573 จะช่วยเพิ่มสัดส่วนในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับบริษัทได้ด้วย
รวมถึงศึกษาการลงทุนในธุรกิจใหม่ (Step Out Business) ผ่านการร่วมทุน หรือการควบรวมกิจการในกลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Driven) เช่น ธุรกิจไฮโดรเจน ธุรกิจด้านชีวภาพ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน จะช่วยให้กลุ่มบริษัทเดินไปสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3776 วันที่ 21 -23 เมษายน 2565