กลุ่ม ปตท. เดินหน้า Net Zero คุมก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน148 ล้านตัน

23 เม.ย. 2565 | 04:18 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2565 | 11:34 น.

นับจากปี 2561 กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ชื่อ “PTT Group Clean & Green Strategy” ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี กลุ่มปตท. จึงได้นำปัจจัยดังกล่าว มากำหนดทิศทางกลยุทธ์ เป้าหมายระยะยาว ตลอดจนแผนวิสาหกิจ ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่ขององค์กร

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เผยว่า  ปตท. ได้มีการจัดตั้ง “คณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของกลุ่ม ปตท. (PTT Group Net Zero Task Force : G-NET)” ขึ้น ประกอบด้วยผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ปตท. และกลุ่ม ปตท. ทำหน้าที่กำหนดกรอบเป้าหมายที่ชัดเจนในการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน 

 

อรรถพล  ฤกษ์พิบูลย์

 

ทั้งนี้ ปตท.ได้ประกาศเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2583 และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  รวมทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของกลุ่ม ปตท. ภายในปี 2593 และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของกลุ่มปตท. ให้ได้ภายในปี 2603

 

โดยได้กำหนดเป้าหมาย Clean Growth เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่ม ปตท. ภายในปี 2573 ลดลง 15% เทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2563 ซึ่งได้ถ่ายทอดเป้าหมายไปยังบริษัทในกลุ่ม ปตท. ให้มีความชัดเจน ในรูปแบบของ PTT Group carbon emis sion budget เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทางตรงและทางอ้อม ในปี 2565-2569 ของปตท. ไม่เกิน 59.13 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ กลุ่ม ปตท.ไม่เกิน 234.45 ล้านตันคาร์บอน ไดออกไซด์เทียบเท่า และในปี 2570-2573 ของปตท. และกลุ่ม ปตท. 148.69 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

กลุ่ม ปตท. เดินหน้า Net Zero  คุมก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน148 ล้านตัน

 

สำหรับการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว กลุ่มปตท.ได้ปรับทิศทางกลยุทธ์ เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ระยะยาวประจำปี 2573 โดยกำหนดการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ประกอบด้วยการลงทุนในพลังงานอนาคต  อาทิ พลังงานทดแทน ระบบการกักเก็บพลังงาน ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ศึกษาการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน และลงทุนนอกธุรกิจพลังงาน

 

อาทิ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต เช่น ยา อาหารและโภชนาการ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น พร้อมต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ปรับธุรกิจน้ำมันให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนการขายธุรกิจที่มีมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจถ่านหิน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด เชื่อมโยง กับเป้าหมาย Clean growth จะลงทุนผ่านโครงการที่สำคัญได้แก่ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจน การดำเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต

 

 สร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงาน แห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) ให้มีสัดส่วนการลงทุนของ กลุ่ม ปตท. 32 % ของงบประมาณ การลงทุนระหว่างปี 2564 - 2573 โดย ปตท. มีเป้าหมาย LNG Portfolio  ภายในปี 2573 ที่ 9 ล้านเมตริกตันต่อปี

 

รวมทั้ง การเพิ่มปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและ ดูแลรักษาป่าไม้และพื้นที่สีเขียว โดยกำหนดเป้าหมายการปลูกป่าบก และป่าชายเลนเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 พร้อมวางแผนในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาปลูกป่า 1.1 ล้านไร่ สามารถดูดซับคาร์บอนฯ ได้ 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

 

ในปี 2564 ที่ผ่านมา กลุ่มปตท.ได้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมพลังงานและการเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) มีการปรับโครงสร้างองค์กร กระบวน การและรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อรองรับการพัฒนาและลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องในระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ให้มีความหลากหลายและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

โดยมีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน (New Business and Infrastructure Business Unit) ที่เป็นรูปธรรม เช่น การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) เพื่อศึกษาโอกาสการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทย

 

การจัดตั้งบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) เพื่อดำเนินธุรกิจรถยนต์ EV การจัดตั้งแพลตฟอร์ม EVme เพื่อให้บริการเช่าทดลองใช้งานรถ EV เพื่อสร้างประสบการณ์ในการใช้งานรถ EV ให้แก่ผู้บริโภค จัดตั้งบริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) และให้บริการสลับแบตเตอรี่ (Battery Swapping) สำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

 

สำหรับการดำเนินงานของกลุ่มปตท.ในช่วง 5 ปีนี้(2565-2569) ได้จัดสรรงบลงทุนภาพรวมไว้ราว 9.44 แสนล้านบาท แบ่งเป็นของ PTTEP 54% ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายผ่าน บริษัท TOP, GC, IRPC รวม 31% ธุรกิจท่อส่งและโรงแยกก๊าซของ PTT 11% และธุรกิจโรงไฟฟ้า ผ่านบริษัท GPSC 4% และตั้งงบลงทุนในอนาคต (PROVISINAL) 7.47 แสนล้านบาท

 

ขณะที่ของปตท.และบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100% อยู่ที่ 102,165 ล้านบาท และตั้งงบลงทุนในอนาคตไว้ 238,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ รวมถึงการลงทุนในธุรกิจ Life science