แผนก่อสร้างโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) ขั้นที่ 3 ยังช่วง N2 แยกเกษตร-นวมินทร์ วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาทยังคงติดปัญหาอยู่มากแต่ทั้งนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เร่งรัดให้สามารถเดินหน้าต่อโดยเร็วเพื่อรองรับปริมาณจราจรในระยะยาว
รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสำหรับความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ขณะนี้กทพ.ได้เสนอรายงานการศึกษาวิเคราะห์อนุมัติการลงทุนโครงการฯ ช่วง N2 แยกเกษตร-นวมินทร์ ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 16,960 ล้านบาท เพิ่มเติมต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อีกครั้ง เพื่อพิจารณาขออนุมัติลงทุนโครงการฯ เนื่องจากที่ผ่านมา กทพ.เคยเสนอเรื่องดังกล่าวเพื่อขอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาทางสำนักเลขาครม.ให้ความเห็นว่ารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมทั้งทางสศช.ให้ความเห็นว่ารายงานการศึกษาวิเคราะห์อนุมัติการลงทุนโครงการฯประกอบการเสนอครม.ที่เคยได้รับจากทางกทพ.ยังไม่ครบถ้วน ทำให้มีการคืนเรื่องดังกล่าวกลับมาที่กระทรวงคมนาคมก่อน แต่ปัจจุบันพบว่ารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ผ่านแล้ว คาดว่าสศช.จะพิจารณาเห็นชอบได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้
“หากได้รับความชัดเจนจากคณะอนุกรรมการของสศช.แล้ว เบื้องต้นกทพ.จะรายงานความคืบหน้าโครงการฯต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอประกอบเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในกลางปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มประกาศประกวดราคาภายในปลายปี 2565 คาดได้ตัวผู้ชนะการประกวดราคา ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 เริ่มก่อสร้างภายในปี 2566 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการปี 2569”
รายงานข่าวจาก กทพ.กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างฐานรากรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น ปัจจุบันรฟม.เสนอของบประมาณเพื่อก่อสร้างฐานรากรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล ซึ่งเป็นการก่อสร้างฐานรากเพิ่มเติม โดยการก่อสร้างจะแยกการก่อสร้างจากฐานรากเดิมที่มีอยู่ของกทพ.แต่อยู่ในแนวเส้นทางเดียวกัน ขณะเดียวกันทางกระทรวงคมนาคมไม่ได้เสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากกระทรวงมีความเห็นว่าให้รฟม.กลับไปศึกษาการจัดทำรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ทั้งโครงการ ซึ่งรวมการก่อสร้างฐาน รากรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลด้วย ตามกฎหมายพ.ร.บ.ร่วมทุนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 ให้ครบถ้วน
ทั้งนี้กทพ.และรฟม.ได้กำหนดแนวทางดังกล่าวไว้ว่า กรณีที่การก่อสร้างฐานรากรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลและทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 แยกเกษตร-นวมินทร์ ไม่พร้อมกัน จะมีการหารือถึงรูปแบบรายละเอียดพื้นที่การก่อสร้างล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างในภายหลัง หากรฟม. มีการก่อสร้างฐานรากรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลหลังจากที่มีการก่อสร้างช่วง N2 แยกเกษตร-นวมินทร์ไปแล้ว ทางกทพ.จะแบ่งพื้นที่ในช่วงการก่อสร้างฐานรากให้กับรฟม.ด้วย เพื่อไม่ให้กระทบการจราจรติดขัดบนถนน
รายงานข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าช่วง N1 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันกทพ.ได้จ้างบริษัท อินเด็กซ์อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ IND เป็นที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม วงเงิน 11 ล้านบาท อีกรอบ เนื่องจากเส้นทางเดิมที่สำนักงานนโยบายและ แผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกทพ.เคยศึกษาไว้มีผลกระทบกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันที่ปรึกษาอยู่ระหว่างศึกษาเส้นทางที่มีผล กระทบต่อมหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์น้อยที่สุด เบื้องต้นมีแนว คิดศึกษารูปแบบการก่อสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดินเพื่อไม่ให้กระทบต่อ มหาวิทยาลัยฯ จะทำให้งบประมาณการก่อสร้างในช่วง N1 เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นด้วย คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้
“แนวคิดการทำอุโมงค์ทางด่วนใต้ดินจะกระทบกับอุโมงค์ถนนบริเวณแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หรือไม่ ทางกทพ.มองว่าจะไม่กระทบ เพราะการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินจะใช้ความลึกมากกว่าอุโมงค์ถนนที่มีการใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งอยู่พื้นที่บริเวณใกล้เคียงกัน โดยจะให้มีผลกระทบด้านมลภาวะทางอากาศน้อยและผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินน้อยที่สุด โดย กทพ.ต้องรอบริษัทที่ปรึกษาศึกษาโครงการฯแล้วเสร็จก่อน หลังจากนั้นจะหารือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ในช่วงปลายปี 2565 เพราะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน 2 ครั้ง ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯด้วย”
สำหรับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N1 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คาดว่าจะจัดทำรายงานการวิเคราะห์การลงทุนโครงการฯและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2566 และเสนอครม.ขออนุมัติโครงการฯช่วงดังกล่าวภายในปลายปี 2566 คาดว่าจะเริ่มขั้นตอนการประกาศประกวดราคาได้ภายใน ปี 2567
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพ มหานครตามไม่มีแนวเส้นทางด้านตะวันตกและด้านตะวันออก ซึ่งต้องใช้ถนนปกติ ทำให้การจราจรติดขัด หากมีการก่อสร้างโครงการฯ ได้ทั้ง 2 ช่วง จะช่วยชะลอการแก้ปัญหาจราจรติดขัด มุ่งหน้าสู่ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และตะวันออกโดยไม่ต้องผ่านใจกลางถนนกรุงเทพฯ อีกทั้ง แนวคิดการทำอุโมงค์มีช่องจราจรไป-กลับ รวม 4 ช่องจราจร สำหรับรถ 4 ล้อ เท่านั้น เพราะเป็นแนวเส้นทางที่อยู่ในถนนกรุงเทพฯ ชั้นใน