วันที่ 17 มกราคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกรมประมง เรื่อง แนวทางการออกใบอนุญาต และหลักเกณฑ์การจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ สำหรับปีการประมง 2565-2566 สาระสำคัญเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประสงค์ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ตามห้วงเวลาที่กรมประมงประกาศกำหนดระหว่างวันที่ 4-28 กุมภาพันธ์ 2565 หากไม่มีใบอนุญาตฯ จะไม่มีสิทธิทำการประมงพาณิชย์ นั้น
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการจัดสรรการพิจารณาการออกใบอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ สำหรับปีการประมง 2565-2566 กรมประมงแจ้งว่ามีเรือทั้งหมด 9,606 ลำที่ได้รับใบอนุญาตในครั้งนี้ จากช่วงที่สหภาพยุโรป (อียู) ปลดใบเหลืองประมงไอยูยู (8 ม.ค.62) ประเทศไทยมีเรือประมงพาณิชย์ทั้งหมด 10,631 ลำ โดยการพิจารณาครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการทำประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุด (MSY)ของสัตว์ที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้การกำหนดปริมาณสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมงทั้งหมด เห็นควรให้กำหนดที่ ร้อยละ 95 ของค่า MSY ปี 2564 ทุกกลุ่มสัตว์น้ำ ทั้งฝั่งอ่าวไทย 1.2 ล้านตัน และทะเลอันดามัน ปริมาณ 1.5 ล้านตัน
“นับตั้งแต่ไทยได้ใบเหลือง กระทั่งปลดใบเหลืองมา จะเห็นว่าการเขียนกฎหมายเละเทะมัดมือมัดเท้าชาวประมงถึงได้เจ๊งกันเป็นจำนวนมาก วันนี้รัฐบาลเห็นหรือยังว่ามีกระบวนการจ้องทำลายประมงพาณิชย์ให้หมดไปจากประเทศไทย โดยมีกลุ่มบุคคลร่วมกับกลุ่ม NGO บางกลุ่มคอยชักใยเบื้องหลังให้ร้ายประมงพาณิชย์ว่าเป็นเครื่องมือทำลายล้างทรัพยากร
แต่ในข้อเท็จจริงกลุ่มที่กล่าวหาประมงพาณิชย์กลับเป็นกลุ่มที่ทำลายทรัพยากรตัวจริง โดยการใช้เครื่องมือจับพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำไปก่อนที่จะวางไข่ในทุกพื้นที่ เห็นได้จากค่า MSY ที่เรือประมงพาณิชย์ได้ลดลงจากระบบไปแล้วก่อนหน้านี้ 30-40% แต่ค่า MSY กลับน้อยลงกว่าปี 2559 (1.62 ล้านตัน) และ ปี 2560 (1.47 ล้านตัน) ทั้งที่จริงหากเรือประมงพาณิชย์ลดลง ค่า MSY ต้องเพิ่มขึ้น คำถามคือใครทำลายทรัพยากรกันแน่ ปัจจุบันมีเรือที่ต้องการจะขายคืนรัฐบาล กว่า 897 ลำ (ข้อมูลอัพเดท ณ วันที่ 19 เม.ย.65)
นายมงคล กล่าวอีกว่า การออกใบอนุญาตในรอบนี้ กรมประมงยังมีออกระเบียบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องให้มีการยกสิทธิสัตว์น้ำได้เป็นครั้งแรก โดยในกรณีเรือลำเดิมชำรุดทรุดโทรม ผุพัง หรือ เรือจมอับปาง เรือไฟไหม้ ไม่สามารถนำมาใช้ในการทำประมงได้ตามปกติ พูดง่ายๆ เหมือนบังคับให้ซื้อโควตาปลาจากเรือกลุ่มนี้ได้ ภายใต้เงื่อนไขอยู่กลุ่มเรือเครื่องมือประเภทเดียวกัน เช่น อวนลากกับอวนลาก เป็นต้น แต่ถ้าไม่แยกเครื่องมือ และสามารถซื้อเรือข้ามกลุ่มได้การดำเนินการจะง่ายกว่าหรือไม่
“ในร่างกฎกระทรวงนี้ ในเรื่องการยกสิทธิ์สัตว์น้ำ กรณีเรือลำเดิมชำรุดทรุดโทรม ผุพัง หรือ เรือจมอับปาง เรือไฟไหม้ ไม่สามารถนำมาใช้ในการทำประมงได้ตามปกติ แต่สามารถซื้อขายสิทธิโควตาได้ ปัญหาคือจะต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งอยากให้ขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอเป็น 60 วัน จากประกาศเดิมแค่ 30 วัน และให้สามารถรักษาสิทธิไว้ได้จนกว่าจะมีเรือลำใหม่ทดแทน และถ้าการนำเรือใหญ่มาแทนก็จะถูกปรับลดวันทำการประมง ปัจจุบันทำการประมงได้ 240 วันต่อปี อย่างไรก็ดีในที่ประชุมมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าไม่น่าจะเกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการประมง แล้วประเทศไทยไม่มีโควตาการจับปลา จะมาซื้อขายสิทธิโควตาได้อย่างไร”
แหล่งข่าวกรมประมง กล่าวถึงผลการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ รอบปีการประมง 2565-2566 มีเรือที่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 9,606 ลำ ประกอบด้วย 1.พื้นที่ทำการประมงฝั่งอ่าวไทย จำนวน 7,702 ลำ (เครื่องมือประสิทธิภาพสูง 4,931 ลำและเครื่องมือประสิทธิภาพต่ำ 2,771 ลำ) 2.พื้นที่ทำการประมงฝั่งอันดามัน จำนวน 1,904 ลำ (เครื่องมือประสิทธิภาพสูง1,621 ลำ และเครื่องมือประสิทธิภาพต่ำ 283 ลำ
ขณะที่มีเรือประมงที่ไม่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 71 ลำ ประกอบด้วย ผู้ขอรับใบอนุญาตขอนอกหลักเกณฑ์การจัดสรรใบอนุญาต จำนวน 13 ลำ, ผู้รับใบอนุญาตมีลักษณะต้องห้ามในการขอใบอนุญาตประมง จำนวน 18 ลำ, มีเรือประมงที่ไม่มีหนังสือรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมง (สร.3) ตามมาตรา 98 จำนวน 25 ลำ,มีเรือที่ถูกประกาศเป็นเรือประมงที่ถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU List) จำนวน 1 ลำ, เรือประมงที่มายื่นขอใบอนุญาตเป็นเรือที่ถูกศาลริบ จำนวน 11 ลำ และเรือประมงที่มายื่นมีการปรับเปลี่ยนประเภทการใช้เรือเป็นเรืออื่นที่ไม่ใช่ทำการประมง หรือทำการประมง (ปั่นไฟ) จำนวน 3 ลำ
นอกจากนี้ยังมีเรือที่ได้รับใบอนุญาตและไม่ชำระค่าธรรมเนียมและค่าอากรกรมประมง ภายในห้วงเวลาที่กำหนด (31 มี.ค.65) ถือว่าสละสิทธิ์ จำนวน 10 ลำ และเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตรอบปี 2563-2564 แต่ไม่มาต่อขอรับใบอนุญาต ในรอบปี 2565-2566 จำนวน 298 ลำ
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,777 วันที่ 24-27 เมษายน 2565