สืบเนื่องจาก คำสั่งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำการประมง และแรงงานในภาคประมง ที่4/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคม เฝ้าระวัง การทำการประมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่ง ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2564
โดยคำสั่งดังกล่าว มีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมในชุดปฏิบัติการให้เป็นผู้ช่วยการปฏิบัติงานของคณะทำงาน รวม 4 ชุด ได้แก่ ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบเพิ่มประสิทธิภาพด่านตรวจประมง , ชุดปฏิบัติการด้านด่านตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์แจ้งเข้าออกเรือประมง ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจกลางทะเล และชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว
ซึ่งถือเป็นการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมในการตรวจจับชาวประมง นั้น ชาวประมง 22 จังหวัด กำลังขอมติให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เรียกประชุมวิสามัญสมาชิก เพื่อหารือถึงผลกระทบรวมทั้งพิจารณาแนวทางแก้ไขต่อไป นั้น
ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายไตรฤกษ์ มือสันทัด นายกสมาคมประมงปากตะโก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” การแต่งตั้ง 4 ชุด นี้ คือ เป็นการแปลงกาย ในร่างใหม่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การตั้งข้อสังเกต จะเห็นว่าคณะทำงานส่วนใหญ่เป็นคนที่เกษียนจากราชการแล้ว ย้อนกลับมาทำใหม่ จะมาหากินกับพี่น้องชาวประมง เป็นชุด คสช.คืนชีพ เชื่อว่ามีไอ้โม่งโยงใย คอยทำให้ประมงไทยเสียหาย ทั้งที่เราแทบจะหมดหนทางเดินกันแล้วทุกวันนี้
“จากเหลือ 2 หมื่นกว่าลำเหลือ หมื่นกว่าลำ แล้วตอนนี้ไม่มีเงินทุน ไม่มีแรงงาน เหลือที่ออกไปทำการประมงในทะเลเหลือจริงไม่ถึงหมื่นลำ วันนี้ให้ของขวัญปีใหม่กับ สหภาพยุโรป หรือ (อียู) อีกหรือ ไม่เคยคิดที่จะให้ของขวัญกับคนในชาติ ประเทศไทย หรือพี่น้องชาวประมงทั้งประเทศเลยหรือ"
แทนที่จะไปดูตัวอย่างเวียดนาม โดนอียูแบน ก็ไม่เห็นเป็นอะไร เค้าก็อยู่บ้านเค้าปกติ แต่เราพลาด ในขณะนั้นเป็นรัฐบาลทหารก็ทำนโยบายตามนายทุน อย่าว่าแค่ภาคประมงเลย ตอนนี้ภาคอื่นก็แทบจะล่มสลายหมดแล้ว
นายไตรฤกษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนชุด 4 ชุดที่ตั้งขึ้นมา ผมถามว่ารู้เกี่ยวกับประมงหรือไม่ ไม่รู้เลย พอไม่รู้ก็กลายเป็นปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ให้นึกภาพตำรวจลงทะเล ทำไมไม่สั่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามอยู่แล้ว ทำงานไป ขณะที่ในกรมประมง ก็อึดอัดงบประมาณที่ใช้ก็มาใช้ที่กรมประมง ไม่ได้มีงบประมาณอื่นเลย ทุกวันนี้เรือตรวจกรมประมงเองยังไม่มีงบประมาณที่จะเติมน้ำมันเลย
“วันนี้กฎหมายออกมา 600 ฉบับ ใน 300 ฉบับเกี่ยวกับการประมง ประมงส่งออก 2 แสนกว่าล้านหายวับไปในพริบตา แล้วกล่าวว่าประมงผิดกฎหมายไร้การควบคม ก็เขียนอยู่อย่างนั้นตั้งแต่ปี 2558 แล้ว วันนี้ก็ยังเขียนอยู่ แม้จะได้ใบเขียวอยู่ก็ยังเขียนอยู่อย่างนั้น เรียกว่าหนังสือไม่เปลี่ยนหัว ควรที่จะเขียนใหม่ ว่าประมงถูกกฎหมาย มีการควบคุมอะไรก็ว่าไป เมื่อชาวประมงเห็นจะได้รู้สึกดีใจ แต่ยังซ้ำเติมด้วย 4 ชุดเฉพาะกิจ เข้าไปอีก”
นายไตรฤกษ์ กล่าวว่า เพี้ยนไปแล้ว นี่คือการนำซาก คสช. เก่าเอามาใช้กับพี่น้องชาวประมงต่อ ทั้งที่ตอนนี้จะตายกันหมดแล้ว มาเลยวันนี้ผมขอเลิก คุณซื้อเรือชาวรประมงไปทั้งหมดเลย ไม่ต้องนำชุดเฉพาะกิจเสียค่าใช้จ่ายรัฐบาลไปเปล่าประโยชน์ ให้นำเงินมาใช้ซื้อเรือทั้งประเทศ จบเลย แล้วกรมประมงก็ยุบไปเลย ส่วนน่านน้ำไทย ก็ปล่อยให้สัมปทานแบบเมียนมาไป ให้เรือต่างชาติเข้ามาทำประมง ตอนนี้มีแย่กว่าแย่อยู่แล้ว
“คิดง่ายๆ ให้รัฐบาลมาซื้อเรือไปเลย จะได้หาอาชีพอื่น ไม่ตองมาต่อล้อต่อเถียงว่าประมงไม่ดี ประมงเลว ประเทศไทยต่อไปก็ให้สั่งปลานำเข้ามา เรื่องภาคประมงขอให้จบกันที ส่วนชุดที่ตั้งขึ้นมา วันนี้เราจะยอมไหม ไม่ยอมแน่นอน แล้วจะฉีกหน้าให้ดูว่าจะมาแบบไหน พวกคุณรู้เรื่องกับประมงหรือไม่ รู้จักปลาสักตัว เห็นประมงเป็นนักโทษหรือ ทำไมคุณจะนำของขวัญนี้ไปโชว์อียู หรือ เพราะอียูจะมา เลยตั้งชุดเฉพาะกิจนี้ขึ้นมา นี่แหละที่มา”
นายสุรเดช นิลอุบล นายกสมาคมประมงสงขลา กล่าวว่า ในขณะนี้มีหลายสมาคมได้ทำหนังสือขอเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อขอทราบวัตถุประสงค์ทำไมต้องตั้งชุดเฉพาะกิจออกมา แบบนี้มองว่าคณะที่ตั้งขึ้นมาไม่มีความรู้ทางด้านประมงมาก่อนเลย แต่ถ้าต้องการแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งเรื่องควรจะมานั่งคุยกันก่อนกับสมาคมประมงก่อนจะดีหรือไม่ เพื่อบรรลุแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน
“ยกตัวอย่างเอกสารที่เคยประสบปัญหากันมา บางหน่วยงานไม่เคยมีความรู้มาก่อนเลยทำให้เกิดความเสียหายได้ จุดนี้ต่างหากที่เรากลัว ถ้ามาตรวจโน้นนี่นั้นไม่มีปัญหายินดีเพื่อเพิ่มความถูกต้องให้กับอาชีพประมงเสียที แต่การกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะต้องทราบว่าอาชีพนี้เป็นอย่างไรเพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาในการแก้ปัญหา แล้วจะได้เป็นการบรรลุประสงค์ร่วมกันด้วย”
นายสุรเดช กล่าวว่า ประมงแก้ปัญหามาตั้งแต่ปี 2558 ตอนนั้นมี ศปมผ. มาเป็นศูนย์บัญชาการแก้ไขประมงผิดกฎหมาย สุดท้ายก็ต้องออกมาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน เพื่อลดภาระหน้าที่ให้กับเจ้าหน้าที่และงบประมาณต่างๆ อาชีพประมงพัฒนาไปถึงขั้นนี้แล้ว แล้วอยู่ดีๆ จะกลับมาก็ต้องถามก่อนว่าอยากจะทราบเรื่องอะไร ให้มาทำงานร่วมกันจะดีกว่าไหม
“เรายินดีที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย เข้ามา เพราะท่านเป็นคนตรงไปตรงมา หากเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเรายินดีที่จะร่วมงานด้วยกัน ว่ารัฐบาลต้องการอะไรบ้าง ถ้าบทบาทท่านมาแบบนี้ ผมรับรองว่าท่านจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวทันที”
อย่างที่ทราบในตอนนี้มีเรือต่างชาติเข้ามาทำมาหากินในน่านน้ำเราเยอะแยะไปหมด จะให้กองทัพเรือหน่วยงานเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ปัจจุบันประมงทำงานกับกองทัพเรือ โดยการส่งข่าวให้ เป็นต้น อย่างโครงการจะนะ ผมก็ต้องไปทำผลกระทบในส่วนของภาคประมง จะสูญเสียรายได้เท่าไร ภาครัฐจะได้แก้ปัญหาถูกต้อง อย่างนี้เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาเชิงบูรณาการ แล้วจะจบทีเดียว
นายสุรเดช กล่าวว่า ยอมรับว่ามีความกังวลกับคณะที่ได้ตั้งขึ้นมาจับประมง หรืออย่างไร และที่ผ่านมาก็มี พ.ร.ก.ประมงฯ 2 ฉบับ เราแก้ปัญหามาทุกปี ไม่ได้สัมฤทธิ์ผลเลยหรือว่าเราทำอะไรไปบ้างแล้ว และอยากจะสะท้อนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว เคยมาเยี่ยมสมาคมประมงฯ เราก็รู้สึกขอบคุณและเห็นท่านมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหามาก
แต่ข้อมูลที่ไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี มีการเบี่ยงเบนหรือเปล่า เพราะในตอนนั้นท่านสั่งการว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมกันให้มีชาวประมงร่วมกันในสัดส่วนที่พอสมควร แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มี จนทำให้ชาวประมงก็ยังมีปัญหาจนถึงทุกวันนี้
ด้าน นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้สมาชิกหลายคนบ่น ไม่พอใจ ไม่เข้าใจ แล้วไม่มีโอกาสได้ตัดสินว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา 4 ชุดควรจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แน่นอนไม่มีใครพอใจกันอยู่แล้ว เพราะที่ตั้งมามีแต่ตำรวจทั้งนั้นเลย ทำให้ชาวประมงมีภาพเหมือนไม่น่าไว้ใจ น่าจะมีการกระทำผิดเยอะ มีค้ามนุษย์
“ให้รู้สึกว่าคนที่ตั้งมีธงในใจอยู่แล้ว คอยแต่จะเล่นกับชาวประมง เราผ่านมา 6-7 ปีแล้ว ยังหาว่าจัดการไม่เบ็ดเสร็จ มีคดีน้อย ทำไมไม่คิดในมุมกลับบ้างว่าไม่ได้ทำผิดแล้ว จะไปเอาคดีที่ไหนมา กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ที่มาดูแลปล่อยปละละเลย ฟังแล้วก็เสียความรู้สึก แล้วรู้สึกเหนื่อย ในเร็วๆ นี้คงจะมีอะไรดีดี ออกมาเพราะสมาชิกกำลังฮึ่มๆกันอยู่”
นายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และอดีตประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวประมง 22 จังหวัดกำลังจะนัดประชุมใหญ่ในเร็วๆนี้ เพื่อมาต่อสู้กับรัฐบาล ในเมื่อจะมาจับอย่างเดียว เห็นคำสั่งตั้งมามีทั้งหน่วยการปฏิบัติการทางทะเล มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เห็นคำสั่งแล้วแสดงเจตนาชัดว่าตั้งใจมาจับเลย ไม่ถูกต้องหน้าที่นี้เป็นของกรมประมง แต่มาทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง
ล่าสุด สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้รับหนังสือจากสมาชิกจำนวน 20 องค์กร เพื่อเสนอขอให้ประชุมใหญ่วิสามัญเกี่ยวกับความเดือดร้อน เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ ในวันที่ 29 ธันวาคม ตั้งแต่เวลา 10.30 น. เป็นต้นไป ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
“ไอยูยูฮันเตอร์” เป็นหน่วยเฉพาะกิจที่รัฐบาลไทยจัดตั้งขึ้นมาเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการประมงทะเลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้สั่งการให้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจพิเศษ เพื่อเร่งรัดการตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการทําประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ภาคประมง ในเขตพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการประมง
หน่วยเฉพาะกิจดังกล่าวได้จัดตั้งทีมตรวจจับพิเศษ 5 ทีม ซึ่งเป็นการสนธิกําลังระหว่างเจ้าหน้าที่ตํารวจ กรมประมง และกระทรวงแรงงาน เพื่อให้สามารถเข้าจับกุมเรือประมงที่ทําผิดในทะเลได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัย เบาะแสและข้อมูลในเชิง เป็นทีมตรวจจับพิเศษ สามารถจับกุมเรือไทยและเรือต่างชาติที่กระทําผิดกฎหมายประมงและกฎหมายแรงงาน
“ไอยูยูฮันเตอร์” หน่วยเฉพาะกิจสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างบรรลุเป้าหมาย โดยสามารถจับกุมการกระทําผิดในทะเล ได้เป็นจํานวนมากในช่วงระยะเวลาอันสั้น ซึ่งหน่วยเฉพาะกิจนี้จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะช่วย ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของศูนย์เฝ้าระวังเรือเข้า – ออก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง ที่ท่าเรือ เพื่อให้มั่นใจว่าการตรวจสอบทั้งที่ท่าเรือและในทะเลจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเพื่อเป็นการป้องปราม มิให้ผู้ที่คิดกระทำผิดหลีกเลี่ยงการตรวจสอบที่เข้มงวดได้
หากใครฝ่าฝืนจะถูกกักเรือ แล้วจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทันที โทษปรับสูงสุด หากไม่ปฏิบัติจะมีความผิด ตาม ม.81 ต้องระวางโทษปรับ 20,0000-4,000,000 บาท และยึดสัตว์น้ำ หรือสั่งห้ามทำการประมง หรือสั่งพักใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือกักเรือประมงอีกส่วนหนึ่งจะลงไปตรวจการทำงานที่ศูนย์ปีโป้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานของศูนย์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน นื่คือภารกิจหลักของไอยูยูฮันเตอร์
หนังสือเรียกร้องประชุมใหญ่ สมาคมประมง 22 จังหวัด นี่เป็นตัวอย่าง เท่านั้น