กลุ่มซีพีเฮ! รฟท.ขยายเวลา MOU แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบินอีก 3 เดือน

25 เม.ย. 2565 | 02:42 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2565 | 09:54 น.

กลุ่มซีพีเฮ รฟท.ขยายเวลา MOU แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบินอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 24เมษายน -24กรกฎาคม 65 เคลียร์ปมที่ดินมักกะสัน บึงเสือดำ -ลำรางสาธารณะพ้นโฉนดที่ดิน150ไร่

 

การเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชียเอราวัน จำกัดเครือซีพี ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานยังไม่สามารถหาข้อยุติในประเด็นการส่งมอบพื้นที่ได้

 

 

ทางเอกชนยังไม่ยอมรับการออกหนังสือเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) โดยระบุว่าการส่งมอบที่ดินมักกะสันจำนวน 150 ไร่ยังมีปัญหาบริเวณบึงเสือดำและลำรางสาธารณะ ถือว่าการส่งมอบพื้นที่ไม่ครบถ้วน

 

 

ดังนั้น จึงต้องขยายบันทึกข้อตกลง (MOU) ออกไปอีก 3 เดือน จากวันที่ 24 เม.ย.-24 ก.ค.65 โดยจะรายงานความคืบหน้าการเจรจารวมถึงการต่อ MOU อีก 3 เดือนต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป

 

 

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่าสำหรับกรณีการส่งมอบที่ดินมักกะสัน 150 ไร่นั้น ก่อนหน้านี้ รฟท.ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อหารือในประเด็นพื้นที่บึงเสือดำและลำรางสาธารณะว่าเป็นเงื่อนไขในการส่งมอบในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินหรือไม่ และเป็นเงื่อนไขในการออก NTP หรือไม่

 

 

นอกจากนี้ยังได้ทำหนังสือถึงกฤษฎีกาเพื่อหารือในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าวเพื่อความรอบคอบ

ผู้ว่า รฟท. กล่าวยืนยันว่า การขยายเวลา MOU ออกไปอีก 3 เดือนไม่ทำให้รฟท.เสียหายเนื่องจากการให้บริการโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ยังดำเนินการไปตามปกติไม่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการแต่อย่างใด

 

 

นายนิรุฒ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเจรจาแก้ปัญหากรณีที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารลดลง และเอกชนไม่สามารถชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนจำนวน 10,671.09 ล้านบาท

 

 

ตามสัญญาร่วมลงทุนฯภายในวันที่ 24 ต.ค.64 ได้และเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างร่วมในพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองนั้นใน 2 ประเด็นนี้ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้ว

 

โดยเหลือประเด็นเรื่องการส่งมอบพื้นที่ซึ่งทางเอกชนยังไม่ยอมรับการออกหนังสือ NTP ในเดือน พ.ค.65 โดยตั้งเป้าเริ่มชำระคืนค่าก่อสร้างให้เอกชนในเดือน 21 หรือประมาณเดือน ก.พ.67 จะต้องพิจารณากรอบระยะเวลากันอีกครั้ง ซึ่งการขยาย MOU ออกไปอีก 3 เดือนจะทำให้ไทม์ไลน์การชำระคืนค่าก่อสร้างต้องเลื่อนไปจากเดิมด้วย

 

 

รวมถึงจะต้องไม่กระทบกรอบในเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างร่วมในพื้นที่ทับซ้อนที่ ครม.ไม่ต้องการให้เพิ่มภาระงบประมาณ ซึ่ง รฟท.จะหารือกับ สกพอ.ถึงการดำเนินการและการเจรจาที่ผ่านมา

 

 

เพื่อประเมินผลว่าต้องมีการปรับปรุงอย่างไรเพื่อเพิ่มความรอบคอบอีกหรือไม่ รวมทั้งร่วมกันวาง Action Plan และไทม์ไลน์ต่อจากนี้เป็นการดำเนินการคู่ขนานในระหว่างรอผลการหารืออัยการสูงสุดและกฤษฎีกา