ค่าไฟ 2565 ถือเป็นอีกหนึ่งภาระค่าใช้จ่ายที่ถูกปรับขึ้น เนื่องจากราคาพลังงานโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดรัฐบาลมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เช็กเลย
เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดในมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน อันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ดังนี้
การปรับปรุงถ้อยคำมาตรการลดภาระค่าครองชีพของปะชาชน โดยการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน
จากเดิมที่ให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ปรับเป็นโดยให้ส่วนลดอัตราค่าเฟที แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ที่มียอดการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ซึ่งจะทำให้มาตรการมีความชัดเจนและเป็นการช่วยเหลือแบบมุ่งเป้า
ต่อเรื่องดังกล่าวล่าสุดนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ระบุว่า ขณะนี้ กกพ.ได้เร่งหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อรวบรวมจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.1 (บ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ที่มีการใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน)
ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2 (บ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ และบ้านอยู่อาศัยที่ ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ แต่มีการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย/เดือน)
ทั้งนี้ กกพ.จะประเมินตัวเลขผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 300 หน่วย เพื่อให้การช่วยเหลือตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ฯ) กระทรวงการคลัง พิจารณาว่ามีทั้งหมดจำนวนกี่ราย ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เห็นชอบ
โดยจะใช้เงินจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น คาดว่าเบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 2,000-3,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าตัวเลขงบประมาณดังกล่าว ถือเป็นตัวเลขที่ กกพ.ได้จัดทำและคำนวณให้ก่อนประกาศปรับขึ้นค่า Ft ในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2565 ในอัตราเดิมราว 22 สตางค์ต่อหน่วย
โดยประมาณการณ์ตัวเลขที่จะต้องใช้อยู่ประมาณราว 1,900 ล้านบาท และเมื่อมีการปรับขึ้นค่า Ft มีการคำนวนตัวเลขใหม่จะอยู่ที่ราว 24 สตางค์ต่อหน่วย
ดังนั้น ตัวเลขที่มีการนำเสนอตามข่าวจึงเป็นตัวเลขที่ประมาณการณ์ในกรอบงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม กรอบแนวคิดเดิมที่กระทรวงพลังงานได้เคยเสนอคือ จะให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ที่จ่ายค่าไฟไม่เกิน 1,200 บาทต่อเดือน
จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าคือการจ่ายค่าไฟในอัตราค่า Ft รอบเดือนม.ค.-เม.ย. 2565 คือ โดยให้เรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะจ่ายค่าไฟในอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย
ในขณะที่ผู้ใช้ไฟเกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะต้องจ่ายค่าไฟตามรอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2565 ตามที่ กกพ. อนุมัติปรับขึ้นค่า Ft ที่ 23.38 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลจะต้องจ่ายค่าไฟในอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.00 บาทต่อหน่วย
เท่าที่ทราบมีการปรับเกณฑ์ผู้ใช้ไฟเน้นกลุ่มผู้ใช้ไฟประเภท 1.1 กับ 1.2 และเพื่อเสนอความเห็นชอบของ ครม. อาจจะมีการประเมิณวงเงินสนับสนุนและส่วนลด Ft ใหม่
โดยจะอิงตัวเลขลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย หรือมากกว่านั้น เวลานี้ยังไม่แน่ใจ เพราะไม่เห็นรายละเอียดที่มีการปรับแก้ไข
ซึ่งเมื่อถึงเวลาต้องเบิกงบประมาณทั้ง 3 การไฟฟ้าก็จะใช้งบตามจำนวนที่ประชาชนใช้ไฟจริง
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างรวบรวมจำนวนผู้ใช้ไฟบ้านและกิจการขนาดเล็ก เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่มติ ครม. ล่าสุด
คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะสามารถสรุปตัวเลขผู้ใช้ไฟใน 2 กลุ่มและจำนวนส่วนลดค่าเอฟที ว่าควรจะลดเท่าไหร่ เป็นต้น