ปัญหาค่าครองชีพที่นับวันจะสูงจนประชาชนเดือนร้อนทุกย่อมหญ้าและสินค้าต่างดาหน้าปรับราคาขึ้นจนแทบจะแพงทั้งแผ่นดินไปแล้ว และล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้กระทรวงพานิชย์และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าที่ขยับตัวสูงขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน กำชับให้แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง พร้อมหาแนวทางช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม กำหนดเป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชน ทั้งระยะสั้น และระยะยาวโดยไม่ให้กระทบกลไกตลาด
แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายในเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้นั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในดำเนินมาตรการบริหารจัดการชิงรุก เช่นโครงกร “Mobile พาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชน” ที่ออกจำหน่ายควบคู่กับสินค้าอุปโภคบริโภคตามแหล่งชุมชน การเคหะ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กว่า 47 รายการ
เช่น ซอสปรุงรส ครีมอาบน้ำ สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ยาสีฟัน หน้ากากอนามัย เป็นต้น โดยลดราคาสูงสุด 60% จนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ และอยู่ระหว่างการพิจารณาจะขยาย Mobile พาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชนต่อหรือไม่ซึ่งต้องดูตามสถานการณ์ราคา ณ ขณะนั้นด้วย
“สินค้าที่ขอปรับขึ้นราคาในช่วงนี้กรมได้เชิญผู้ผลิตมาหารือซึ่งได้ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาไว้ก่อน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเอกชนขอรับราคากกลายรายแต่ยังไม่มีการอนุมติ มีเพียงปุ๋ยเท่านั้นที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะหากให้มีการปรับราคาอาจส่งผลให้ปุ๋ยขาดตลาดได้เพราะปุ๋ยส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ”แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าว
โดยสินค้าที่ประชาชนนิยมซื้อ เช่น ไข่ไก่ เบอร์ M ราคาแผงละ 105 บาท ข้าวหอมมะลิ (ถุงละ 5 กก.) ราคาถุงละ 120 บาท น้ำมันพืช ขวดละ 58 บาท และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เช่น ผงซักฟอก (700 กรัม) จากถุงละ 58 บาทเหลือ 35 บาท น้ำยาล้างจาน (400 มล.) จากถุงละ 20 บาท เหลือ 8 บาท ครีมอาบน้ำ (500 มล.) จากขวดละ 130 บาท เหลือ 54 บาท แชมพูและครีมนวด (450 มล.) จากขวดละ 169 เหลือ 92 บาท ซอสปรุงรส (600 ซีซี) จากขวดละ 25 บาท เหลือ 17 บาท ซอสเห็ดหอม (800 ซีซี) จากขวดละ 50 บาท เหลือ 40 บาท เป็นต้น
สถิติการร้องเรียน ปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 1,058 คำร้อง (ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 20 เม.ย. 2565) พบว่า พฤติกรรมที่ถูกร้องเรียนมาก คือ ไม่ปิดป้ายแสดงราคา609 คำร้อง ,จำหน่ายราคาแพง159 คำร้อง , แสดงราคาจำหน่ายปลีกไม่ตรงกับราคาที่จำหน่าย 87 คำร้อง โดย สินค้าที่ถูกร้องเรียนมาก คือ อาหารปรุงสำเร็จ122 คำร้อง ,เสื้อผ้าสำเร็จรูป83 คำร้อง , ไข่ไก่47 คำร้อง , เนื้อสุกรชำแหละ41 คำร้อง ,ชุดตรวจโควิด40 คำร้อง , เครื่องชั่ง39 คำร้อง ,พระเครื่อง29 คำร้อง ,เครื่องดื่ม25 คำร้อง ,ต้นไม้19 คำร้อง และ ก๊าซหุงต้ม18 คำร้อง
ส่วนกรณีรัฐบาล จะปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ทำให้ประชาชน เกิดความกังวลว่าราคาสินค้าจะปรับขึ้นนั้น นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ย้ำว่า เรื่องนี้ กรมการค้าภายใน กำลังติดตามอยู่ แต่ต้นทุนจากค่าขนส่ง ไม่ได้กระทบกับทุกสินค้าในอัตราเดียวกัน ซึ่งสิ่งสำคัญ ก็คือ กระทรวงพาณิชย์ ต้องดูแลให้เป็นธรรม เพื่อป้องกันให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเล็กน้อย ไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาในอัตราเดียว กับคนที่ได้รับผลกระทบจากค่าขนส่งในอัตราที่สูงกว่า ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมาก จะเห็นผลกระทบชัดเจนอยู่แล้ว
ขณะที่ มาตรการดูแลราคานั้น มีการควบคุมราคาอยู่แล้ว สินค้าหลายรายการ อยู่ในบัญชีควบคุม มีทั้งขออนุญาตปรับราคา ที่ต้องแจ้งก่อนปรับราคา รวมไปถึงกำหนดให้ปิดป้ายแสดงราคา เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก