ยิ่งใกล้วันหย่อนบัตรตัดสินมติคนกรุงฯ การขับเคี่ยวเสนอนโยบายของบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ยิ่งเข้มข้นและหลากหลาย เป็นทางเลือกให้คนกรุงเทพฯได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อเลือกผู้บริหารมานำพาเมือง ไปสู่เเป้าหมายที่สัญญาไว้ไปอีก 4 ปี
กรุงเทพฯไม่เพียงเป็นพื้นที่จังหวัดหนึ่ง แต่เป็นที่ตั้งเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การบริหารประเทศ ความเป็นไปของกรุงเทพฯ สะท้อนถึงการขับเคลื่อนประเทศโดยรวม
“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจความเห็นผู้นำแวดวงเศรษฐกิจธุรกิจ เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ที่ทำงานจริง ทำทันที ประสานได้กับทุกหน่วยงานทุกระดับ เพื่อแก้ปัญหาเมืองทุกมิติ ประการสำคัญเร่งดูแลปัญหาปากท้องคนกรุง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีงานสร้างรายได้ เพิ่มความสามารถการแข่งขัน ร่วมมือภาคเอกชนพัฒนาจุดขาย ยกระดับคุณภาพคน-กายภาพเมือง ให้สะอาด เรียบร้อย ปลอดภัย เป็นเมืองน่าอยู่น่าภูมิใจ
ขอผู้ว่าฯมือประสานสิบทิศ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องการผู้ว่าฯ กทม. ที่เข้าถึงประชาชน ทราบปัญหาเดือดร้อนจริงๆ และประสานสิบทิศ เชื่อมได้ทุกการเมือง ทุกกรมทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพราะกทม.ไม่ได้มีอำนาจทำได้ทุกเรื่อง และอยากให้เพิ่มความสามารถการแข่งขัน เร่งลดค่าครองชีพคนกรุง สร้างงานสร้างรายได้เพิ่มความสามารถจากการหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง
การส่งเสริมผู้ประกอบการรายเล็ก ให้มีพื้นที่หากินด้วยต้นทุนและสภาวะแวดล้อมที่แข่งขันได้ เสริมประสิทธิภาพโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนและเวลาการเดินทางของประชาชน ด้วยการเชื่อมต่อคมนาคมล้อ-ราง-เรือ ให้มีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นในการติดต่อทำธุรกรรมกับหน่วยงานกทม. เพื่อลดการเดินทางให้น้อยที่สุด
ส่วน Street Food ถ้าเตรียมพร้อมเรื่องมาตรฐานตั้งแต่ตอนนี้ ทั้งในด้านผู้ประกอบการ สถานที่ ผลิตภัณฑ์ ให้สะอาด ปลอดภัย รสชาติดี มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจมห้เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวยุคหลังโควิด
สร้างเมืองที่น่าภูมิใจ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า นโยบายของผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯกทม. ส่วนใหญ่คล้ายกัน คือจะทำให้กรุงเทพฯดีกว่าที่เป็นอยู่ เป็นมหานครที่สะอาด ปลอดภัย แก้ปัญหาจราจร จัดระเบียบทางเท้า จัดการขยะมูลฝอย การทำให้แม่น้ำลำคลองสวยใส จัดระเบียบสายไฟฟ้าให้มีความสวยงาม ฯลฯ
แต่ที่อยากฝากคือ ผู้ว่า กทม.คนใหม่ต้องเร่งออกแบบกรุงเทพฯให้เป็นมหานครที่น่าอยู่สำหรับคนกรุงเทพฯ ทั้ง 5.5 ล้านคน (ตามทะเบียนราษฎร์) เป็นลำดับแรกอย่างแท้จริง กรุงเทพฯมีคนต่างชาติมาเที่ยวมากกว่าลอนดอน มากกว่าปารีส แต่ส่วนใหญ่มาแบบฉาบฉวย อยู่ 5-7 วันก่อนไปต่อที่อื่น และมาอยู่เพื่อดูความอะเมซิ่งที่ไม่น่าภูมิใจ เช่น สายไฟสายสื่อสารที่ระโยงระยางแล้วถ่ายรูปขำขัน มาเที่ยวแล้วสนุก ทำทุกอย่างได้ตามใจ ทิ้งขยะตรงไหนก็ได้ไม่ถูกจับเหมือนประเทศอื่น อะไรที่ไม่เคยเห็นในโลก ทั้งถูกกฎหมาย
และผิกกฎหมายมีหมด
คนกรุงเทพฯไม่ต้องการเม็ดเงินแลกกับจุดขายแบบนี้ สิ่งที่ต้องการเห็นคือ การสร้างจุดขายใหม่ มีภาพลักษณ์เป็นมหานครที่ผู้คนมีวัฒนธรรมที่ดี อาหารอร่อย ราคาไม่แพง มีสตรีทฟู้ดที่จัดระเบียบอย่างดี ผู้คนมีอัธยาศัย เป็นเมืองหลวงที่สะอาด ปลอดภัย มีระเบียบ อากาศที่ดี น้ำไม่เน่าไม่เสีย หรือมลพิษทางอากาศ สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้อยู่ และผู้มามาเยือน
“ผู้สมัครมีนโยบายดี ๆ ทั้งนั้น แต่ที่อยากได้คือ ผู้ว่าฯที่มีวิสัยทัศน์ พูดจริง ทำจริง และทำทันที ทุ่มเท มีทีมงานที่แข็งแกร่ง มีความรู้ ความสามารถ มีความโปร่งใส ไม่คอรัปชั่น เพราะงบประมาณกทม.มีมากพอสมควร และขอให้มีคนรุ่นใหม่เก่งๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยจัดระเบียบ และปรับปรุงทุกด้านให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่”
เจียระไนของดีดึงท่องเที่ยว
ด้านนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ต้องการให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ เร่งจัดระเบียบและพัฒนาพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ ให้มีจุดขายอย่างยั่งยืน ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น จากทุกวันนี้กรุงเทพฯมีหลายสิ่งที่โด่งดังระดับโลก อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร จนถึงสตรืทฟู้ด ที่ดังระดับโลก รวมถึงวัฒนธรรมถิ่นและไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ
ที่ยังขาดคือการนำความโดดเด่นเหล่านี้ยกขึ้นมาโชว์เคส เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ภาคธุรกิจและชุมชนในพื้นที่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในลักษณะการจัดแพ็คเกจ หรือทำแคมเปญร่วมกัน ซึ่งจะเกิดได้ผู้ว่าฯกทม. ต้องให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เพื่อสร้างการท่องเที่ยว
นอกจากนี้อยากเห็นการพัฒนาและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่จะดึงดูดคนเข้ามาเที่ยวในพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มคุณค่าการพัฒนาส่งเสริม ทั้งวัฒนธรรมถิ่นดั้งเดิมจนถึงวัฒนธรรมเมืองยุคใหม่ จัดการปัญหาขยะ ฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจัง ก็จะทำให้กทม.มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และเป็นอีกหนึ่งจุดขายอย่างยั่งยืน
รวมถึงอยากให้ผู้ว่ากทม.ให้ความสำคัญจัดระเบียบธุรกิจโรงแรมและที่พักให้ถูกกฎหมาย ไม่ปล่อยให้นำห้องพักแบบคอนโดมีเนียมมาขายแบบรายวัน แก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ที่ไม่ควรให้มีอีก หลังจากไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงข้อมูล ในการเดินทางท่องเที่ยวกรุงเทพฯ โดยผูกกับแอพพลิเคชั่นที่คนนิยมอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างใหม่
5 โจทย์ภารกิจผู้ว่าฯคนใหม่
นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ชี้ว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เป็นตัววัดอุณหภูมิการเลือกตั้งใหญ่ที่จะตามมา มองว่าเลือกผู้ว่าฯกทม.มาเพื่อพัฒนาเมือง ตัวอย่างเช่น หากผู้ว่ากทม.กับมท. 1 เป็นพวกเดียวกัน ก็จะส่งสัญญาณว่าเดินหน้าทำนโยบายแนวเดียวกัน ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เห็นประโยชน์สาธารณะที่ชัดเจน เม็ดเงินที่ใช้โปร่งใสชัดเจน ก็เห็นด้วยจะทำให้งานเดินเร็ว แต่ถ้ารั่วไหลก็ควรพิจารณาเลือกเอาฝั่งตรงข้ามมาถ่วงดุล
“วันนี้เรื่องใหญ่สุดที่ผู้ว่าฯกทม.ควรทำ เพื่อเพิ่มโอกาสของคนเมือง คือเรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดวางผังเมือง แก้ปัญหาอาชญากรรม กระตุ้นเศรษฐกิจของคนเมือง และสุดท้ายคือเรื่องจราจร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน”
ขอผู้ว่าฯใหม่พูดแล้วทำจริง
นายอนุรุธ ว่องวานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทอังกฤษตรางู กล่าวว่า ตอนนี้ค่าครองชีพไทยสูงขึ้น รัฐบาลมีหน้าที่โดยตรง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ หรือกรมการค้าภายใน ต้องควบคุมราคาสินค้า ไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสที่ต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นแล้วปรับราคาขึ้นมากเกินไป
สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. กรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงของประเทศ และเป็นเมืองสำคัญ ความเป็นอยู่ของคนในเมือง ปัญหาที่เราเคยเจออย่างเมื่อก่อน คือเรื่องรถติดต่างๆ แต่ตอนนนี้มีปัญหาติดบางช่วง ตอนน้ำมันแพงรถก็ติดน้อยลง ผู้ว่าฯต้องเข้ามาดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน อำนวยความสะดวกให้คนสัญจรไปมา หรือมีความเป็นอยู่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ผู้สมัครแต่ละคนก็มีนโยบายของตัวเอง ก็อยากได้ผู้ว่าฯที่เป็นคนดี ทำงานเก่งเพื่อประชาชน ไม่ใช่ก่อนเข้ามานั่งตำแหน่งพูดอย่างหนึ่ง เข้ามาแล้วทำอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นแบบนั้นประชาชนตัวเล็กๆ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ผมเชื่อว่ารอบนี้มีคนดีเข้ามา และเป็นคนที่น่าสนับสนุน ก็หวังว่าท่านจะได้รับการเลือกตั้งและมารับใช้ประชาชนจริงๆ”
ชูผังกทม.รองรับทุกกลุ่ม
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท บริษัทในเครือบมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) สะท้อนภาพผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ในมุมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า ต้องการคนที่ทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยได้ทุกระดับ
โดยเฉพาะระดับกลางและระดับล่างที่อยู่อาศัยบริเวณชายคลอง สลัม จัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ร่วมกับรัฐบาล ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีมีสวัสดิการ การจัดหางานก็จะช่วยให้กรุงเทพน่าอยู่ขึ้น ขณะที่รถไฟฟ้าปัจจุบันมีค่อนข้างครบสมบูรณ์ แต่หากต้องการให้เกิดการลงทุนแนวรถไฟฟ้า ต้องใช้มาตรการลดหย่อนภาษีมาเป็นตัวจูงใจ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,775 วันที่ 17-20 เมษายน พ.ศ.2565