กรณีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ปรับปรุงการกำหนดมาตรฐานระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ โดยได้มีการประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ ฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2563 และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564 แทนประกาศที่ออกเมื่อปี 2546
โดยปรับวิธีการตรวจวัดให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเทคโนโลยีและเป็นไปตามมาตรฐานสากล และปรับปรุงการกำหนดค่ามาตรฐานระดับเสียงให้สัมพัทธ์กับค่าผลการทดสอบระดับเสียงขณะอยู่กับที่ที่ได้รับการรับรองแบบโดยกรมการขนส่งทางบก และได้ร่วมมือกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) จัดทำคู่มือการตรวจวัดระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ขึ้นตามประกาศดังกล่าว
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 นายพรศักดิ์ ภู่อิ่ม รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า เพื่อเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการตรวจวัดระดับเสียงจากยานพาหนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เช่น กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) กรมการขนส่งทางบก และกรุงเทพมหานคร สามารถปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและเป็นไปตามหลักมาตรวิทยา สร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานทั้งเรื่องความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของผลการตรวจวัดระดับเสียง
คพ. ได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการตรวจวัดระดับเสียงและการออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะเสียงดังเกินมาตรฐาน ให้กับเจ้าหน้าที่ บก.จร. ในระหว่างวันที่ 25 - 28 เมษายน 2565 ซึ่งจะถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งด้านทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติจริง
เพื่อยกระดับความสามารถให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ เพิ่มความน่าเชื่อถือในผลการตรวจวัดและลดข้อโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายตรวจสอบและออกคำสั่งห้ามใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีเสียงดังเกินมาตรฐาน
นายจรัญ ยะฝา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กล่าวว่า มว. มีความพร้อมในด้านเครื่องมือตรวจวัดเสียงและองค์ความรู้ด้านการวัดที่ถูกต้อง เพื่อใช้ในการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่มีความสอดคล้อง และเป็นการเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้ จนท.สามารถปฏิบัติตามเทคนิคการวัดได้อย่างถูกต้องและเป็นไปตามหลักมาตรวิทยา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงาน ทั้งเรื่องความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของผลการตรวจวัดระดับเสียง
นอกจากนี้ สถาบันได้ดำเนินการสอบเทียบเครื่องมือวัดเครื่องวัดระดับเสียงและเครื่องกำเนิดเสียงของ บก.จร. เพื่อให้แน่ใจผลการวัดมีความถูกต้องแม่นยำ และน่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล
ที่จะถูกนำไปใช้ในการตัดสินตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ในกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่ผลการวัดมีค่าเกินเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ลดปัญหามิให้เกิดข้อพิพาท และตำรวจสามารถบังคับใช้งานได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม
พันตำรวจเอกชัยณรงค์ ทรัพยสาร ผู้กำกับการกอง 5 กองบังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า บก.จร. ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตั้งแต่ปี 2546 แต่เนื่องจากมีการโยกย้าย สับเปลี่ยน หมุนเวียนกำลังการปฏิบัติงานทุกปี
การจัดการฝึกอบรม ในครั้งนี้จึงเป็นการทบทวนความรู้ ความเข้าใจ วิธีการ ขั้นตอนการตรวจวัดระดับเสียงและการออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะเสียงดังเกินมาตรฐาน ทั้งนี้ บก.จร.
มีความพร้อมเรื่องเครื่องมือตรวจวัดระดับเสียงจากยานพาหนะ ซึ่งได้รับการสอบเทียบจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ในการตั้งด่านตรวจนั้น บก.จร. จะต้องลงพื้นที่ร่วมกับ คพ. เพื่อให้ช่วยดูแลและทำความเข้าใจกับประชาชน
ทั้งนี้ คพ. มีแผนงานที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพในเรื่องดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป และเนื่องจากยังคงมีการร้องเรียนกรณีเสียงดังจากการขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์แต่งซิ่ง จึงขอความร่วมมือท่านเจ้าของรถ ใช้รถที่ผลิตและมีอุปกรณ์ส่วนควบ หรือท่อไอเสีย ในสภาพเดิมจากโรงงาน
เพื่อความปลอดภัยและลดปัญหาด้านเสียงดังรบกวน ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียด ค่ามาตรฐานและวิธีการตรวจวัดระดับเสียงของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยดาวน์โหลดคู่มือการตรวจวัด ระดับเสียงของรถยนต์และคู่มือการตรวจวัดระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ได้ทางเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ