นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนการวิจัย พัฒนา ส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานพืชชนิดกัญชา กัญชง กระท่อมและสมุนไพร ครั้งที่ 1/2565 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รับนโยบายจากคุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีความห่วงใย หลังจากที่จะมีการปลดล็อกกัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติดประเภท 5 ในวันที่ 9 มิถุยายน ที่จะถึงนี้นั้น
รัฐบาลได้มีนโยบายกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์และสนับสนุนให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนและอำนวยความสะดวกตามโยบายของรัฐบาล และเตรียมความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของ “กรมวิชาการเกษตร” ในฐานะผู้ขับเคลื่อน ควบคุม กำกับ และติดตามการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนงานและแผนปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ มีเนื้อหาการประชุมโดยสรุปดังนี้
พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพืชกัญชา กัญชง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1) การกำหนดชนิดและชื่อพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 2) การกำหนดมาตรฐาน คุณภาพ และวิธีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ควบคุม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564 และ 3)
กำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ขอรับอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า สำหรับเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง พ.ศ.2564 เพื่อควบคุมมาตรฐาน คุณภาพการรวบรวม ขาย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านเมล็ดพันธุ์ และกำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ขอรับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุม เพื่อการค้าสำหรับเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ประกอบการพิจารณาการออกใบอนุญาตของเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518
ส่วน พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ ร่าง ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืช จากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไข ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยประกาศให้ ส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชกระท่อม (Mitragyna speciose (Korth.) Havil และส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชสกุลกัญชา (Cannabis) จากทุกแหล่งเป็นสิ่งต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507
พร้อมเสนอที่ประชุมพิจารณา ร่าง ประกาศกรมวิชาการเกษตร 2 เรื่องคือ เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง พ.ศ. ... และ เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กระท่อม พ.ศ. ... เพื่อออกประกาศเงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง และเมล็ดกระท่อม ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 พร้อมเสนอที่ประชุมให้ความเห็นการเปลี่ยนสถานภาพของพืชชนิดกัญชา กัญชง และกระท่อม ว่าให้เป็นสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด หรือคงสภาพเป็นสิ่งไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งที่ประชุมขอทบทวนและจะพิจารณาประเด็นนี้ร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 28 เมษายน นี้
พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบลักษณะของพันธุ์พืชสำหรับพืชชนิดแคนนาบิส (Cannabis) ในการตรวจสอบพันธุ์พืชที่ขอจดทะเบียนพันธุ์ใหม่ ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ขณะนี้ ประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง แบบคำขอ และการเตรียมการเพื่อตรวจสอบลักษณะของพันธุ์พืชที่ขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2565 และระเบียบกรมวิชาการเกษตรว่าด้วย การตรวจสอบลักษณะของพันธุ์พืชที่ขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2565 อยู่ระหว่างรออธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงนามและนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
การจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชชนิดกัญชา กัญชง และกระท่อม และการจัดทำคู่มือเทคโนโลยีการผลิตพืชชนิดกัญชา กัญชง และกระท่อม สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการนำไปใช้ประโยชน์เป็นแนวทางการปลูก การดูแลรักษา การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว เพื่อยกระดับคุณภาพพืชชนิดกัญชา กัญชง และกระท่อม ตามมาตรฐานสากล
โดยที่ประชุมมีมติมอบ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชชนิดกัญชา กัญชง และกระท่อม โดยการเพิ่มเป็น Annex ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร (มกษ.3503-2561) และมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) นอกจากนี้ยังได้มอบให้ กรมวิชาการเกษตร จัดทำร่างคู่มือเทคโนโลยีการผลิตพืชชนิดกัญชา กัญชง และกระท่อม ต่อไป
อย่างไรก็ดี การศึกษา วิจัยและพัฒนาพืชชนิดกัญชา กัญชง และกระท่อม ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา แบ่งเป็น การวิจัยพืชชนิดกัญชาและกัญชง 3 โครงการ ได้แก่ 1) การรวบรวม ศึกษา และขยายพันธุ์กัญชาพันธุ์พื้นเมืองของไทยและพันธุ์การค้าจากต่างประเทศ 2) การวิจัยและพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการปลูกกัญชงที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรม และ 3) การวิจัยเทคโนโลยีการผลิตพืชสกุลกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งผลการดำเนินการสามารถคัดเลือกได้กัญชา และกัญชงสายพันธุ์ดี
สำหรับสร้างเป็นแม่พันธุ์ (mother plant) รองรับการกระจายพันธุ์สู่เกษตรกรภายในปี 2566 และรองรับการปรับปรุงพันธุ์ (breeding program) ที่จะดำเนินการต่อเนื่องต่อไปสอดคล้องไปกับโครงการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการวิจัยพืชสกุลกัญชา ซึ่งได้ดำเนินการสร้างอาคารวิจัยระบบปลูกพืชแบบปิด (indoor cultivation) ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ และพัฒนาพื้นที่ปลูกพืชสกุลกัญชาแบบกลางแจ้ง (outdoor cultivation) พร้อมโรงเรือนปลูกแบบกึ่งปิด (semi-indoor cultivation) ภายในพื้นที่ดำเนินการ 60 ไร่ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร
ส่วนการวิจัยพืชกระท่อม ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาโดยการรวบรวม ศึกษา และขยายพันธุ์กระท่อมจากแหล่งปลูกสำคัญได้ 132 สายต้น เพื่อทำการศึกษา คัดเลือกสายพันธุ์ดีที่มีปริมาณสารสำคัญ Mitragynine ในระดับสูง พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อจัดทำเป็นมาตรฐานการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งหน่วยงานที่ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพืชชนิดกัญชา กัญชง และกระท่อม
อาทิ เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน มีความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนาพืชกระท่อมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) มีความยินดีในการร่วมเป็นเครือข่ายวิจัย และร่วมมือในการทำงานวิจัยร่วมกัน ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ การผลิตและการกระจายสายพันธุ์ดีสู่เกษตรกร รวมไปถึงมีความยินดีสนับสนุนงบประมาณสำหรับดำเนินการวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แนวทางการส่งเสริมพืชชนิดกัญชา กัญชง และกระท่อม เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอแนวทาง กลไกการส่งเสริมพืชชนิดกัญชา กัญชง และกระท่อม ให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานพืชชนิดกัญชา กัญชง กระท่อม และสมุนไพร โดยที่ประชุมเห็นชอบแนวทางฯ ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย