นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ จะเดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการร้านค้าส่งค้าปลีกรายย่อย ไปสู่การเป็น “สมาร์ทโชวห่วย” ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการยกระดับร้านโชวห่วยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาร้านค้าสู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วยด้วยการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และเมื่อผู้ประกอบ การสมาร์ทโชวห่วยมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพเพียงพอ ก็จะสามารถช่วยเหลือชุมชน นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายกระจายรายได้สู่ชุมชนต่อไป
โดยแผนการดำเนินการในปี 2565 กรมฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อร่วมกันยกระดับการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ครอบคลุมในหลายมิติ ตั้งแต่การเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการผ่านการจัดสัมมนาแบบออนไลน์และออนไซต์ทั่วประเทศ การปรับภาพลักษณ์ร้านค้าให้ทันสมัย แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น การส่งเสริมให้ร้านค้าโชวห่วยนำระบบ POS มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเครือข่ายพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น (Local Modern Trade) ที่พร้อมจะร่วมพัฒนาร้านค้าสมาชิกให้เติบโตไปด้วยกัน ผู้ผลิตสินค้าชุมชน และผู้ให้บริการเสริม ที่จะช่วยสร้างจุดแข็งและเพิ่มรายได้ให้ร้านค้าโชวห่วย ผู้ให้บริการเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่จะช่วยลดต้นทุนในการสั่งซื้อ ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการขายสินค้า รวมทั้งสถาบันการเงินที่จะมานำเสนอแหล่งเงินทุนให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการรายย่อย
สำหรับการพัฒนาขั้นพื้นฐานให้กับร้านโชวห่วย กรมฯ ได้เริ่มจัดสัมมนาให้ความรู้ด้วยหลักสูตร “ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ สร้างเครือข่าย สู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วย” กำหนดจัดขึ้นรวม 12 ครั้งใน 4 ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งได้จัดสัมมนาครั้งแรกไปแล้วที่จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อเดือนมี.ค.2565 ที่ผ่านมา และในเดือนเม.ย.2565 จะจัดอีก 2 ครั้ง ที่กรุงเทพฯ และระยอง ต่อด้วยจังหวัดยโสธร นครสวรรค์ ลำพูน ในเดือนพ.ค.2565 จังหวัดภูเก็ต นครราชสีมา ลำปาง อุดรธานี ในเดือนมิ.ย.2565 สิ้นสุดที่จังหวัดตรัง และปราจีนบุรี ในเดือนก.ค.2565 ตามลำดับ
ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกอยู่ประมาณ 400,000 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากกรมฯ และหน่วยงานพันธมิตร โดยผลักดันไปสู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วยแล้วจำนวน 34,572 ราย แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว หรือร้านอาหาร เนื่องจากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนทุกครัวเรือน ทำให้ร้านโชวห่วยมีการเติบโตต่อเนื่อง และขยายตลาดออกไปมากขึ้น รองรับฐานลูกค้าชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการเป็นตลาดเนื้อหอม มีผู้ประกอบการให้ความสนใจ และมีร้านค้าโชวห่วยแบรนด์ใหม่ ๆ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ถูกดี มีมาตรฐาน (คาราบาวแดง) โดนใจ (บิ๊กซี) ขายดี (โลตัส) เป็นต้น