นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จากกลุ่มตัวอย่างพบว่า แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 99.0 มีหนี้ ส่งผลทำให้หนี้ครัวเรือนในปีนี้สูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.18 แสนบาทต่อครัวเรือน เป็นยอดหนี้ที่สูงสุดในรอบ 14 ปี และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 ต่อ GDP
โดยสาเหตุหลักเกิดจากรายได้ของแรงงานไม่พอกับรายจ่ายที่สูงขึ้นเนื่องจากค่าครองชีพและราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีหนี้เดิมทำให้ต้องมีการระมัดระวังการใช้จ่ายและมีการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ส่งผลทำให้วันหยุดแรงงานปีนี้ ผู้ใช้แรงงานมีการปรับตัวลดค่าใช้จ่ายทำให้ยอดเงินสะพัดวันแรงงานปีนี้ลดลงร้อยละ 14.9 คิดเป็นมูลค่าเพียง 1,525 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามผู้ใช้แรงงานต้องการให้รัฐบาลดูแลในเรื่องของการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ ดูแลการว่างงาน รวมถึงการชำระหนี้ โดยในเวลานี้มองว่าค่าแรงขั้นต่ำน้อยเกินไปไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจึงควรปรับค่าแรงให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ
แต่สำหรับมุมมองของนักวิชาการนั้น มองว่า การปรับขึ้นค่าแรงตามข้อเสนอ 492 บาทเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศสูงเกินไป เพราะถือเป็นการปรับขึ้นในครั้งเดียวร้อยละ 10-20 ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็กที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอยู่ในเวลานี้อาจไม่สามารถรับได้และอาจเลือกการปลดคนงานแทนการปรับขึ้นค่าแรง แนวทางที่ดีจึงควรปรับไปตามกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีในแต่ละจังหวัด