นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ตามที่รัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาภาคการเกษตรไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก โดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลใน 4 ด้านหลัก เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ได้แก่ 1. ด้านข้อมูล 2.ด้านแพลตฟอร์มกลาง 3.ด้านการกำหนดคุณภาพ มาตรฐาน และตรวจสอบย้อนกลับ และ 4. ด้านการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดนั้น
ปรากฏว่า “นม” เป็น 1 ใน 4 ที่เป็นสินค้านำร่องที่รัฐบาลได้วางเป้าหมายในการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ตั้งแต่การพัฒนาเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกให้ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศร่วมกับสินค้าอีก 3 ชนิดคือ ข้าว ทุเรียน และกุ้งขาว
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมเร็วที่สุดได้มอบหมายให้ อ.ส.ค.ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมตราไทย-เดนมาร์ค ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” โดยเร่งหาแนวทางในการผนึกความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาช่องทางตลาดในการสร้างความเข้มแข็งทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
จากปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ครองตลาดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศมาอย่างยาวนานอยู่แล้วก็อยากให้ตลาดมีความแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม เพราะนอกจากจะช่วยให้ อ.ส.ค.มีรายได้มากขึ้นแล้วยังเป็นการช่วยยกระดับโคนมซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยให้มีรายได้มั่นคง ยั่งยืนอีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการสนองนโยบายดังกล่าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเร็ว ๆนี้ อ.ส.ค.ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน การร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาเพื่อให้สอดรับแนวนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อส่งเสริม ศึกษา พัฒนาและสนับสนุนการใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่
ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุน การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน โดยนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในหน่วยงานออกจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศและกำหนดแนวทางและถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตอาหารสัตว์รวมถึงการจัดหาและการบริหารจัดการวัตถุดิบด้านอาหารเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในอนาคต
“ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา อ.ส.ค.ได้ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น โดยหันมาบุกตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Application Shopee และ Lazada เพื่อลดช่องว่างระหว่างผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คกับผู้บริโภคให้สามารถซื้อสินค้าได้อย่างสะดวก คล่องตัวมากขึ้น พร้อมทั้งอัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านช่องทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง การลงนาม MOU ระหว่างอ.ส.ค. กับ อคส. ในครั้งนี้จึงถือเป็นอีกมิติสำคัญในการเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ ๆ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้ อ.ส.ค.มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มากขึ้นอย่างแน่นอน จากปัจจุบันมีรายได้อยู่ประมาณ 9,500-10,000 ล้าน/ปี ” นายสมพร กล่าว
สำหรับนโยบาย "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" เป็นโครงการที่ต้องการรวบรวมสินค้าเกษตร การันตีคุณภาพจากกลุ่มเกษตรกรที่คัดเลือกพิเศษโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สำหรับนำมาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" ทั้งในประเทศและต่างประเทศ