วันแรงงาน หรือวันแรงงานแห่งชาติ ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2565 พี่น้องแรงงานก็จะได้หยุดพักผ่อนประจำปี
วันดังกล่าวถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่แรงงานได้นัดรวมตัวกันภายใต้องค์กรและเครือข่ายต่างๆ เพื่อแสดงพลังในการเรียกร้องสิทธิด้านแรงงานต่อรัฐ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อเนื่องมานาน
สภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ ข้อเรียกร้องมีด้วยกันทั้งหมด 8 ข้อ โดยเป็นข้อเรียกร้องของ 15 สภาองค์การลูกจ้าง
ขณะเดียวกันประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ยังเป็นที่จับตา เพราะในหลายประเทศได้ให้น้ำหนักและความสำคัญกับคนงาน เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อม สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องให้เร่งรัดการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ในอัตราเดียวกัน 492 บาท
หลังจากใช้ความพยายามในการผลักดันให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั้งของไทย และทั่วโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ราคาสินค้า อาหารการกิน เครื่องมือ เครื่องใช้ ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ปรับราคาพุ่งสูงขึ้น
การเผชิญกับโควิด ทำให้คนงานจำนวนไม่น้อยตกงาน ว่างงาน ขาดรายได้ บางคนทำงานที่บ้าน (Work from home) ต้องแบกรับภาระจากค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต แทนผู้ประกอบการ สวนทางกับค่าจ้างไม่ได้มีการปรับมาเกือบ 3 ปีแล้ว
การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 1 มกราคม 2563 แบ่งออกเป็น 10 ราคา ตามเขตพื้นที่ คือ 313, 315, 320, 323, 324, 325, 330, 331, 335 และ 336 บาท อ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฉบับ 10
ค่าแรงขั้นต่ำ 2565 แยกตามพื้นที่ 77 จังหวัด
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐ ได้แถลงนโยบายต่อสาธารณะว่า จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อยวันละ 425 บาท จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เคยยื่นเสนอหลักการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท 421 บาท และ 700 บาท โดยปรับเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552-2560
เหตุผลในการขอปรับเพิ่มนั้นมาจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ความเดือดร้อนค่าจ้างไม่พอที่จะเลี้ยงตนเองและครอบครัว แม้กระทั่งลูกจ้างในภาครัฐที่รัฐเป็นผู้จ้างงานเองแต่กลับไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐประกาศโดยอ้างว่าลูกจ้างภาครัฐไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ข้อมูลการสำรวจจากความเดือดร้อนของคนงานทุกภูมิภาคของประเทศ เมื่อเดือนกันยายน 2560