เตรียมอุดหนุนสัปปะรด "เชียงราย-พะเยา-ลำปาง" ผลผลิตออกมาก พ.ค.-ก.ค.นี้

30 เม.ย. 2565 | 10:46 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2565 | 17:53 น.

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่  เชิญชวนคนไทยอุดหนุนสัปปะรด ระบุ ผลผลิตเกษตรกร ระบุ เชียงราย-พะเยา-ลำปาง แหล่งผลิตสับปะรดโรงงาน ปีนี้ ผลผลิตรวม 76,315 ตัน ผลผลิตออกมาก พ.ค.-ก.ค. 

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรดโรงงาน ปี 2565 ในพื้นที่รับผิดชอบของ สศท.1 ได้แก่ เชียงราย พะเยา และลำปาง

 

ซึ่งทั้ง 3 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกสับปะรดโรงงานคิดเป็นร้อยละ 35 ของเนื้อที่ปลูกสับปะรดโรงงานภาคเหนือ โดยปี 2565 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565)

 

คาดว่ามีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 3 จังหวัด รวม 32,423 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 34,475 ไร่ (ลดลงร้อยละ 6) เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นเช่น สับปะรดพันธุ์บริโภคสด มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

ส่วนด้านผลผลิต คาดว่าจะมีปริมาณรวม 76,315 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณ 78,872 ตัน (ลดลงร้อยละ 3) เนื่องจากเนื้อที่ปลูกลดลง ประกอบกับปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นทำให้เกษตรกรลดการใส่ปุ๋ยบังคับออกดอก ผลผลิตของสับปะรดจึงลดลง 

 

สำหรับการปลูกสับปะรดโรงงาน ทั้ง 3 จังหวัด (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) มีเกษตรกรผู้ปลูกรวม 3,159 ครัวเรือน เกษตรกรจะปลูกพันธุ์ปัตตาเวีย ซึ่งเป็นพันธุ์ที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องการเพื่อนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋องสับปะรดสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี

 

ส่วนมากเกษตรกรจะเริ่มทยอยปลูกใน เดือนมกราคม - พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มี  ฝนตกชุก ไม่มีปัญหาเรื่องโรครากเน่ายอดเน่า ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 15 – 18 เดือน ซึ่งสับปะรดสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี โดยผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ เดือนมกราคม และจะออกมากสุดช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม (ร้อยละ 60 ของผลผลิตทั้งหมด)

เตรียมอุดหนุนสัปปะรด \"เชียงราย-พะเยา-ลำปาง\" ผลผลิตออกมาก พ.ค.-ก.ค.นี้

ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม อยู่ที่ 6 บาท/กิโลกรัม ในส่วนของการจำหน่ายผลผลิต เกษตรกรส่งจำหน่ายให้กับผู้รวบรวมในพื้นที่ และพ่อค้ารายใหญ่ที่มารับซื้อภายในจังหวัดเพื่อรวบรวมส่งไปยังโรงงานแปรรูป จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี และชลบุรี เก็บไว้จำหน่ายสำหรับบริโภคผลสด ร้อยละ 34 ของผลผลิตทั้งหมด

 

ทั้งนี้ สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย จัดอยู่ในกลุ่ม Smooth cayenne เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด และยังมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคสดด้วย ซึ่งมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว หากเก็บเอาไว้สักระยะ ก็จะมีรสชาติหวานเพิ่มขึ้น

 

ด้านแนวทางบริหารจัดการสับปะรดโรงงานในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้มีการส่งเสริมพื้นที่เหมาะสมในการปลูก การจัดหาแหล่งน้ำหรือจัดระบบชลประทาน ลดต้นทุนการผลิตสนับสนุนและหาแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร

 

รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ในด้านการแปรรูป ได้ส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรด

 

เช่น นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์ ความงามจากสับปะรดในจังหวัดลำปาง โครงการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุจากสับปะรดที่เหลือใช้ด้วยการผลิตเป็นเส้นใยเสริมแรงสำหรับวัสดุคอมโพสิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

และด้านการตลาด ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าบนสื่อออนไลน์ www.thaitrade.com การรวบรวม จำหน่าย และส่งออกสับปะรดผลสดผ่านกลไกรูปแบบประชารัฐ ดำเนินการขยายตลาดการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์เพื่อกระจายผลผลิตไปยังตลาดต่างๆ ตามความเหมะสมแต่ละพื้นที่

 

“ในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม ซึ่งจะเริ่มมีผลผลิตสับปะรดโรงงานในภาคเหนือออกมาจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนทุกท่าน หันมาอุดหนุนและบริโภคสับปะรดที่ผลิตโดยเกษตรกรไทยให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการอุดหนุน ส่งเสริมผลผลิต ช่วยกระจายผลผลิตให้แก่เกษตรกรแล้ว สรรพคุณของสับปะรดยังส่งผลดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมากอีกด้วย” ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าวทิ้งท้าย