“มิสซี” ภาวะแทรกซ้อนหลังหายจากโควิด-19 สำหรับเด็ก เช็คสาเหตุอาการดูเลย

01 พ.ค. 2565 | 22:34 น.

“มิสซี” ภาวะแทรกซ้อนหลังหายจากโควิด-19 สำหรับเด็ก เช็คสาเหตุ อาการ การวินิจฉัย และ การรักษา อ่านรายละเอียดทั้งหมดด่วน

ภาวะมิสซี (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children : MIS-C) คือ ภาวะแทรกซ้อนเมื่อหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงระยะเวลา 2-6 สัปดาห์ สำหรับเด็ก อยู่ในกลุ่มอาการอักเสบระบบต่างๆ ทั่วอวัยวะของร่างกาย ตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป มีการคาดการณ์ว่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ มีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ หากมีอาการรุนแรงสามารถส่งผลให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

 สาเหตุในการเกิดภาวะมิสซี (MIS-C)

  • ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าภาวะมิสซี (MIS-C) เกิดจากอะไร แต่มีการคาดการณ์ว่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเด็กตอบสนองต่อเชื้อไวรัสมากจนเกินไป มักจะเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 2-6 สัปดาห์ การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะมิสซี (MIS-C) ได้เช่นกัน

 

 

อาการของภาวะมิสซี (MIS-C)

  • ไข้ขึ้นไม่ต่ำกว่า 38 องศาเซลเซียส    
  • ปวดศีรษะ      
  • แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • ตาแดง   
  • ริมฝีปากแห้ง ลิ้นบวมเป็นตุ่ม     
  • คลื่นไส้ อาเจียน    
  • ปวดท้อง    
  • ตับอักเสบ ลำไส้อักเสบ
  • มีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย
  • ความดันต่ำ มีอาการชัก

 ภาวะมิสซี (MIS-C) ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร

 อย่างที่ทราบกันดีว่า ภาวะมิสซี (MIS-C) นั้น จะทำให้ระบบในร่างกาย มากกว่า 2 ระบบเกิดความผิดปกติ อวัยวะต่างๆทั่วร่างกายเกิดการอักเสบ ได้แก่

  • ระบบประสาท เด็กมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ     
  • ระบบหายใจ  เด็กมีอาการปอดอักเสบ ลิ่มเลือดอุดตันในปอด และหายใจลำบาก    
  • ระบบหัวใจ และหลอดเลือด เด็กมีอาการช็อค หัวใจอักเสบ      
  • ระบบเลือด การแข็งตัวเลือดผิดปกติ   
  • ระบบทางเดินอาหาร เด็กมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง และตับอักเสบ  
  • เด็กมีอาการไตวายเฉียบพลัน   
  • ผิวหนัง เด็กมีอาการเยื่อบุผิวหนังอักเสบ เป็นผื่น แดง

 

มิสซี

การวินิจฉัยภาวะมิสซี (MIS-C)

  • การตรวจเลือดเพื่อประเมินค่าปฏิกิริยาการอักเสบในร่างกาย
  •  การตรวจหัวใจเพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)

 การรักษาภาวะมิสซี (MIS-C)

 ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางในการรักษาภาวะมิสซี (MIS-C) อย่างชัดเจน เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ยังคงต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม แต่การรักษาภาวะมิสซี (MIS-C) ยังคงใช้แนวทางในการรักษาแบบเดียวกับโรคคาวาซากิ  ได้แก่

  •  การรักษาแบบประคับประคอง
  •  การให้ยากลุ่มต้านการอักเสบ เช่น อิมมูโนกลอบูลิน (Immunoglobulins)

 

 ข้อแตกต่างระหว่างภาวะมิสซี (MIS-C) และ โรคคาวาซากิ

  •  ภาวะมิสซี (MIS-C) มักจะเกิดขึ้นในเด็กอายุ 8-14 ปี แต่โรคคาวาซากิ มักจะเกิดขึ้นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ภาวะมิสซี (MIS-C) ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจผิดปกติ และอาการในระบบทางเดินอาหาร มีอาการรุนแรง และ โอกาสเกิดการช็อคได้มากกว่าโรคคาวาซากิ
  • แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการ ตรวจเลือด และตรวจหัวใจ เพื่อทำการแยกโรคระหว่างภาวะมิสซี (MIS-C) และ โรคคาวาซากิ

 

 ข้อแตกต่างระหว่างภาวะมิสซี (MIS-C) และ ภาวะลองโควิด (Long COVID)

  •  ภาวะมิสซี (MIS-C)  จะทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ระบบเกิดความมากกว่า 2 ผิดปกติระบบ มักจะเกิดขึ้นหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 2-6 สัปดาห์
  •  ภาวะลองโควิด (Long COVID) จะมีอาการเหมือนกับ การติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ มักจะเกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อโควิดตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป อาการจากภาวะลองโควิด (Long COVID) จะเป็นอาการแบบเรื้อรัง เป็นๆหายๆ และมีความรุนแรงน้อยกว่าภาวะมิสซี (MIS-C) 

 

 รายงานการเกิดภาวะภาวะมิสซี (MIS-C)  ครั้งแรก ที่ประเทศอังกฤษ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 หลังจากนั้นสามารถพบผู้ป่วยวัยเด็กทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ภาวะมิสซี (MIS-C)  จะพบในผู้ป่วยเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งเด็กที่ป่วยจากภาวะภาวะมิสซี (MIS-C)  นี้ เป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีการสัมพันธ์กับความรุนแรงขณะติดเชื้อโควิด-19.

 

ที่มา:โรงพยาบาลเพชรเวช