เครื่องดื่ม-สินค้ามีนํ้าหนัก พาเหรดขึ้นราคาตาม “ดีเซล”

05 พ.ค. 2565 | 21:00 น.

 ร้านค้าปลีกโอดเจอแล้ว ราคาขายส่งเพิ่มตามดีเซลลอยตัวโดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม น้ำอัดลมเขย่าขวัญรอบหน้าขึ้นแน่ลังละ 10-20 บาท ต้องขึ้นตาม “จุรินทร์” ลั่นยังไม่ให้ขึ้นสินค้าควบคุม 18 รายการ ประธานสภาอุตฯเปิดช่อง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามเงินเฟ้อ

การลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยขั้นแรกปรับขึ้นเป็นลิตรละ 32 บาท โดยจะปรับขึ้นอีกสัปดาห์ละ 1 บาท สู่เป้าหมายที่ลิตรละ 35 บาทในสิ้นเดือนพ.ค. 2565 นี้ “ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจตลาด ร้านค้าย่อยโอดเจอราคาขายส่งปรับขึ้นถ้วนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม-ของหนัก ที่มีค่าขนส่งสูง

 

นางมนัสมนต์ (ขอสงวนนามสกุล) เจ้าของร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ในเขตมีนบุรี กล่าวว่า หลังวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีสินค้าหลายชนิดที่ปรับขึ้นราคาขายส่งแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม

โดยสปอนเซอร์ ปรับขึ้นจากเดิมลังละ 195 บาท เป็น 230 บาท เอ็ม 150 ขึ้นขวดละ 1 บาท น้ำมันพืชขณะนี้บางยี่ห้อขาดตลาด คาดว่าหลังรอบจัดส่งใหม่ที่สั่งเข้าไป จะเป็นราคาใหม่ จากวันนี้ที่ขายขวดละ 67 บาท (น้ำมันมรกตขวดใหญ่) ที่ยังรอดูกันอยู่ ส่วนน้ำอัดลมล่าสุดรถส่งแจ้งว่า จะมีการปรับราคาขึ้น หลังรัฐบาลลอยตัวน้ำมันดีเซล ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยคาดว่าจะปรับราคาขึ้น 10-20 บาทต่อลัง

 

อย่างไรก็ดี ช่วงเดือนมี.ค. -เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่ามีสินค้าหลายรายการ ปรับราคาขายขึ้นไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เหล้าขาว เบียร์ นมกล่องยูเอชที นมกระป๋อง รวมถึงซอสปรุงรส น้ำปลา โซดา และเหล้าสี ทั้ง เบลนด์ 285 และ หงส์ทอง

“เมื่อต้นทางปรับราคาขึ้น เราก็ต้องขึ้นตาม ตอนนี้กว่าครึ่งไปซื้อจากแม็คโคร เพราะราคานิ่งกว่า ถูกกว่า จะมีสั่งผ่านตัวแทนเฉพาะสินค้าบางอย่าง ที่มาส่งให้ที่ร้าน เช่น เหล้า เบียร์ น้ำอัดลม เมื่อเอเย่นต์ปรับราคาขึ้น บางอย่างก็เลิกสั่ง จะเน้นสั่งเฉพาะของที่ขายดี อันไหนขายไม่ดีก็ยกเลิกไป"

 

ส่วนคำถามว่า จะมีสินค้าอะไรที่ปรับขึ้นราคาอีก นางมนัสมนต์กล่าวว่า รอดูว่ามาม่าจะปรับขึ้นมั้ย เพราะก่อนหน้านี้ปรับขึ้นไปแล้วลังละ 10 กว่าบาท ส่วนข้าวสาร น้ำอัดลม ก็ยังต้องรอดูเพราะค่าขนส่งแพง

 

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สินค้าที่ขอปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ที่มีขอมาหลายราย ได้เชิญผู้ผลิตมาหารือ และขอความร่วมมือให้ตรึงราคาไว้ก่อน ยังไม่อนุมัติ มีเพียงปุ๋ยเท่านั้นที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ไม่เช่นนั้นอาจขาดตลาด เพราะส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ โดย 18 หมวดสินค้าจำเป็น ยังไม่มีการให้ปรับขึ้นราคาโดยเด็ดขาด ส่วนมาม่าที่ปรับขึ้นนั้นเป็นราคาขายส่ง ส่วนร้านค้าปลีกปลายทางถึงผู้บริโภคนั้นยังราคาเท่าเดิม

 

“ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ดำเนินมาตรการบริหารจัดการชิงรุก เช่น โครงการรถสินค้า Mobile พาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชน ที่ออกจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคตามแหล่งชุมชน การเคหะ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กว่า 47 รายการ โดยลดราคาสูงสุด 60% ให้ต่อไปอีกเดือน”

 

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า หากธุรกิจ ขนส่งปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 15-20% ตามที่ประกาศไว้ จะส่งผลให้ภาคการผลิตมีต้นทุนค่าขนส่ง-โลจิสติกส์ เพิ่มขึ้นอีก 2.25-3% (จากเดิมเฉลี่ยที่ 15 %) สะท้อนสู่ราคาสินค้าที่ต้องปรับขึ้นอีก 5-10% ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอีก สวนทางรายได้ประชาชนและผู้ใช้แรงงานที่ยังไม่ได้ปรับขึ้น ภาคแรงงานจึงเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาทต่อวัน ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคงรับไม่ไหว ซ้ำเติมจากผลกระทบโควิด-19 จนอาจต้องปรับกิจการอีกจำนวนมาก

 

“เราไม่คัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ขอให้เป็นอัตราที่เหมาะสม ลูกจ้างอยู่ได้ และนายจ้างอยู่ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการไตรภาคีระดับจังหวัด เพื่อพิจารณาตัวเลขตามค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ และอัตราเงินเฟ้อ จากนั้นส่งให้คณะกรรมการไตรภาคีกลางพิจารณาอีกครั้ง”

 

 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อของประเทศ เฉลี่ยทั้งปีนี้ที่ 4.9 % ก็อาจปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ตามอัตราเงินเฟ้อ ในช่วงปกติเศรษฐกิจดี นายจ้างจะบวกค่าพรีเมียมให้อีก 1% แต่ภาวะปัจจุบันค่าพรีเมียมคงไม่มี

 

หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,780 วันที่ 5-7 พฤษภาคม พ.ศ.2565