โคแฟค จี้สื่อมวลชนยึดหลักวารสารศาตร์ สู้โซเชียลมีเดีย - Fake News

07 พ.ค. 2565 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2565 | 20:48 น.

โคแฟค แนะสื่อมวลชนกระแสหลัก ต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น(Trust in Media) ตามหลักวารสารศาสตร์ ในยุคโซเชียลมีเดียตีกระหนาบ และสู้กับ Fake News พร้อมย้ำ 8 ตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือในสื่อมวลชน

กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ อดีตสื่อมวลชน และที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) เผยแพร่รายงานว่า ความไว้วางใจมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่สับสนอันเกิดจากข้อมูลลวงและบิดเบือน วารสารศาสตร์ที่มีหลักการต้องก้าวออกมายืนอยู่แถวหน้าเพื่อเรียกความไว้วางใจจากสาธารณชนกลับคืนมา

 

Trust Media Project เป็นความพยายามที่ริเริ่มโดย Sally Lehrman อดีตผู้สื่อข่าวสายวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ได้รับรางวัลด้านวารสารศาสตร์มากมายจากสถาบันวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชนขั้นนำในสหรัฐ และกลุ่มบรรณาธิการของสำนักข่าวแถวหน้าในตะวันตกที่ต้องการจะกู้ศรัทธาต่อบทบาทสื่อมวลชนกลับคืนมา ท่ามกลางความท่วมท้นและสับสนของข้อมูลข่าวสารที่เต็มไปเนื้อหาที่เป็นเท็จ หลอกลวงและเข้าถึงได้ง่ายผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ (หลังจากถูกกระแสโจมตีลดทอนความน่าชื่อถือจากวาทกรรม Fake News ที่สร้างขึ้นโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ และ ผลกระทบสำคัญจากข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนอันส่งผลให้อังกฤษตัดสินใจออกจากประชาคมยุโรป)

 

ปัจจุบัน Trust Media Project มีเครือข่ายสำนักข่าวอยู่กว่า 200 แห่งทั่วโลก เช่น BBC,  The Mirror, The Globe and Mail,  DPA, La Republica, The Economist, Washington Post, Frontline, Toronto Start, CBA-Radio Canada, La Prensa, และ elPeriodico เป็นต้น ในทวีปเอเชียมีเพียงแห่งเดียวคือ South China Morning Post

 

ขณะที่ Google, Facebook, Twitter และ Bing ได้แสดงเจตจำนงค์ที่จะให้ความร่วมมือผลักดันให้ตัวชี้วัดเหล่านี้ปรากฎอยู่บนข่าวที่คนดูเข้าไปดูหรือค้นหามากขึ้น

8 ตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือในสื่อมวลชน

 

  1. ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ (Best Practices)
  2. ความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพของผู้สื่อข่าว ต้องเปิดเผยชื่อ ประวัติและความเชี่ยวชาญ ผลงานที่ผ่านมา (Journalist Expertise)
  3. ระบุประเภทของเนื้อหาข่าวให้ชัดเจน โดยแยกให้ชัดว่าเป็นรายงานข่าว บทความแสดงความคิดเห็น บทวิเคราะห์หรือบทความที่มีสปอนเซอร์ (Type of Work)
  4. ระบุแหล่งที่มาของข้อมูลในข่าว ในกรณี ข่าวสืบสวนสอบสวน หรือข่าวที่มีข้อถกเถียง ต้องระบุแหล่งข้อมูลตั้งต้นทีมาของข้อเท็จจริงและข้อโต้แย้งต่าง ๆ ที่อ้างอิงในข่าวหรือรายงานชิ้นนั้น (Citations and References)
  5. อธิบายกระบวนการทำข่าว เช่น ทำไมข่าวชิ้นนี้ถึงสำคัญ ถ้าเป็นข่าวสืบสวนสอบสวน หรือข่าวที่มีข้อโต้แย้ง ต้องระบุสาเหตุที่ติดตามข่าวนี้ ( Methods)
  6. เป็นข่าวที่ผู้สื่อข่าวรายงานมาจากท้องที่ ผู้สื่อข่าวมีความรู้เกี่ยวกับพื้นที่นั้น และมีข้อมูลเชิงลึกของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือพื้นที่นั้น ๆ (Locally Sourced)
  7. แสดงถึงความพยายามและมุ่งมั่นของกองบรรณาธิการที่จะนำเสนอข่าวรอบด้านในสังคมโดยให้ความสำคัญกับเสียง บทบาทหน้าที่และสถานะของคนทุกเพศ ทุกวัยและกลุ่มในสังคมอย่างเท่าเทียม (Diverse Voices)
  8. ให้พื้นที่ผู้อ่านในการโต้แย้ง เสนอแนะความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงงานข่าวในเชิงประเด็นที่ตอบโจทย์สังคมและให้มีคุณภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ (Actionable Feedback)

รายงานนี้ยังย้ำว่า ในยุคที่ สื่อมวลชนตกอยู่ในวงล้อมดิจิทัล (Journalism under Digital Siege) หลักวารสารศาสตร์แห่งความจริงยิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ วารสารศาสตร์ที่ปราศจากความเกรงกลัว และ ความลำเอียง (Journalism without Fear or Favor) ในการนำเสนอข้อเท็จจริง แม้จะเป็นสิ่งที่เป็นอุดมคติมาก แต่ก็เป็นภารกิจที่จำเป็นและท้าทายยิ่งในการธำรงหลักการความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนไม่ใช่เสื่อมถอยไปตามแรงบีบรัดทางเศรษฐกิจการเมืองและเทคโนโลยีดิจิทัล

 

ที่มา โคแฟค