นายวิชัย โภชนกิจ ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) เปิดเผยว่า บอร์ด อคส.ชุดนี้ ซึ่งเป็นกรรมการใหม่ทั้งหมด ได้มีการประชุมนัดแรก หลังเข้ารับตำแหน่งแล้ว โดยได้มีการประเมินสถานะของ อคส. ในปัจจุบัน ทรัพย์สินที่ อคส. มีอยู่ ทั้งคลังสินค้า ที่ดิน เพื่อประเมินแนวทางการสร้างรายได้ รูปแบบการทำงานหรือการทำธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างไร และจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ เพื่อทำแผนในการขับเคลื่อน อคส. ให้มีรายได้เพียงพอ ที่จะเลี้ยงองค์กรได้ในระยะยาว
“เท่าที่ได้รับฟังคำชี้แจงจากนายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส. เห็นว่า หาก อคส. ไม่ทำอะไร องค์กรจะอยู่ได้อีกไม่เกิน 3 ปี ก็จะขาดสภาพคล่อง เพราะไม่มีรายได้เข้ามาเติม เงินที่มีอยู่ ก็จะหมดไปเรื่อย ๆ ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ อคส.มีปัญหาแน่ จึงต้องหาทางออก หาทางเพิ่มรายได้ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ อคส. มีอยู่ รวมทั้งการทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่าย โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน”
สำหรับแนวทางการเพิ่มรายได้ ต้องพิจารณาใช้จุดแข็งที่ อคส. มีอยู่ อย่างคลังสินค้า ที่เด่น ๆ ก็คลังสินค้า 2 ราษฎร์บูรณะ และคลังสินค้า 1 ธนบุรี ซึ่งถือเป็นไข่แดง และตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพมาก อยู่ใจกลางเมือง สามารถที่จะพัฒนาเพิ่มได้ ก็ต้องดูว่าจะทำอะไรได้ โดยต้องดูให้เหมาะกับพื้นที่ เพราะพื้นที่ตรงนั้น ทำโรงงานไม่ได้ เป็นพื้นที่อยู่อาศัย แต่ทำธุรกิจได้ ซึ่งอาจจะใช้วิธีให้เอกชนเช่า แล้วพัฒนาพื้นที่ หรือร่วมลงทุนกับเอกชน ใช้สิทธิ์แปลงทรัพย์สินเป็นหุ้น แต่ อคส. ต้องไม่เข้าไปบริหารเอง ให้เอกชนบริหาร เหมือนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้เซ็นทรัลเช่าพื้นที่ทำห้างสรรพสินค้าและโรงแรมที่ลาดพร้าว แบบนี้ จะมีรายได้เข้ามาตลอด
ส่วนพื้นที่ดินเปล่า พื้นที่คลังสินค้าในต่างจังหวัด มีแนวทางในการให้เอกชนเช่า เช่น ให้ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน เช่าพื้นที่ทำปั๊มน้ำมัน หรือให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เช่าพื้นที่ทำศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า เพื่อรองรับการเติบโตของการค้าออนไลน์ ซึ่งได้ให้แนวทางไปแล้ว ให้เชิญผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์เข้ามาหารือ และหากทำสำเร็จ ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ และเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินให้ อคส.ในที่สุด
สำหรับการเพิ่มรายได้อื่น ๆ ผอ.อคส. ได้รายงานมาแล้วว่ามีแนวทางที่จะเพิ่มรายได้จากการใช้ยุทธศาสตร์แก้มลิง++ ผ่านการเพิ่มจำนวนสาขาของคลังสินค้า อคส. ทั้งในและต่างประเทศ การเข้าไปช่วยเหลือเกษตกรปลูกข้าวขายแป้ง ปลูกมะพร้าวขายกะทิ การจำหน่ายข้าวถุงตรา อคส. เป็นต้น ซึ่งได้มอบนโยบายให้ช่วยเหลือสินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือโครงการประกันรายได้ หรือโครงการช่วยเหลือของรัฐบาลเพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ ยังได้เร่งรัดให้เคลียร์ข้าวที่อยู่ในโครงการรับจำนำให้จบ ซึ่งปัจจุบันมีข้าวอยู่ในคลังกว่า 2 แสนตัน ต้องเร่งระบายให้หมด และเร่งปิดบัญชีโครงการของรัฐที่ยังปิดไม่เสร็จให้เสร็จโดยเร็ว รวมถึงการสะสางคดีทุจริต ทั้งโครงการจำนำข้าว โครงการจำนำอื่น ๆ และคดีทุจริตถุงมือยาง ที่ปัจจุบัน หลาย ๆ คดีได้เข้าสู่ขั้นตอนของตำรวจ ศาล และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิด และตามผลประโยชน์ของรัฐกลับคืนมา