12 พ.ค.2565 - ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) จัดทำ 'ราคาอาหาร' โดยถือเป็นดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ฯ ได้ริเริ่มจัดทำการสำรวจราคาอาหารในทุกรอบครึ่งปี ราว 18 ครั้ง
การสำรวจนี้ดำเนินการเฉพาะในพื้นที่สีลม-สุรวงศ์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจหรือ Central Business District (CBD) ของประเทศไทย และมีคนทำงานในสำนักงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ โดยมีสมมติฐานว่าราคาอาหารในย่านนี้น่าจะเป็นราคามาตรฐานเพราะเป็นในใจกลางเมือง ในบริเวณอื่นน่าจะถูกกว่านี้ ยกเว้นในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้ไปท่องเที่ยวเป็นครั้งคราว การสำรวจพื้นที่สีลม จึงถือเป็นตัวแทนสำคัญสำหรับกรุงเทพมหานครและประเทศไทยโดยรวม
โดยสรุปพบว่าราคาอาหารเฉลี่ย เช่น ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่มขึ้นจาก 31.0 บาทในเดือนพฤษภาคม 2555 เป็น 31.8 บาทในเดือนพฤษภาคม 2556 ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2557 เพิ่มเป็น 34.3 กลายเป็น 36.1 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2557 กลายเป็น 38.4 บาทในเดือนพฤษภาคม 2558 เป็น 40.0 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็น 41.7 ในเดือนพฤษภาคม 2559 เป็น 43.1 ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ในเดือนพฤษภาคม 2560 เป็น 45.7 บาท ในเดือนพฤศจิกายน 2560 เพิ่มเป็น 47.1 บาท ในเดือนพฤษภาคม 2561 เพิ่มเป็น 48.1 บาท ในเดือนพฤศจิกายน 2561 เพิ่มเป็น 49.0 บาท ในเดือนพฤษภาคม 2562 เพิ่มเป็น 50.2 บาท เดือนพฤษภาคม 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 51.4 บาท เดือนมิถุนายน 2564 เพิ่มเป็น 53.5 บาท ส่วนล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2565 เพิ่มเป็น 57.8 บาทโดยเฉลี่ย
ย้อน 1 ปี ราคาอาหารไทย เพิ่มสูง 7.9%
หากคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจะพบว่า ในรอบ 1 ปีล่าสุด (มิถุนายน 2564 – พฤษภาคม 2565) ราคาอาหารเพิ่มขึ้นสูงมากถึง 7.9% แตกต่างจากช่วงปี 2563-2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นไม่มากนักคือเพิ่ม 4.0% ทั้งนี้เพราะในช่วงปี 2564 มีการระบาดของโควิด-19 เป็นอันมาก ทำให้การจับจ่ายน้อยลง เศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ราคาสินค้าไม่เพิ่มขึ้น ต่างจากปี 2565 ที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ราคาสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ
ภาพรวม 'ราคาอาหาร' รอบ 10 ปี
เมื่อประเมินจากภาพรวมสะสม 10 ปี (พฤษภาคม 2555 – มิถุนายน 2565) ราคาเพิ่มจาก 31.0 บาท เป็น 57.8 บาท หรือเพิ่มขึ้น 86.3% และหากคิดเป็นการเพิ่มขึ้นต่อปี ก็เท่ากับเพิ่มขึ้นประมาณ 6.4% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร เพราะสูงกว่าอัตราภาวะเงินเฟ้อ ราคาอาหารล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2565 คือเป็นเวลา 8 ปีหลังรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2557 เพิ่มขึ้น 68.3% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 6.7% ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมาก
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า อาจมีบางบริเวณ เช่น เมืองท่องเที่ยว หรือเมืองอุตสาหกรรมที่มีการปรับเพิ่มของราคาขายมากกว่านี้ หรือสำหรับรายการอาหารแบบฟาสต์ฟูด ก็อาจปรับราคาเพิ่มขึ้นตามอำเภอใจโดยไม่ได้มีการควบคุม แต่สำหรับประชาชนกันเอง ย่อมมีความเห็นใจและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันตามสมควร จึงทำให้แทบไม่มีการปรับราคาขาย แต่ระยะหลังจากที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้การเพิ่มราคาอาหารเกิดขึ้นอย่างชัดเจน
ในกรณีนี้บางท่านอาจตั้งข้อสังเกตว่า แม้ราคาไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณอาจจะลดน้อยลง แต่จากการสังเกตก็พบว่า ปริมาณก็อาจลดลงบ้าง อย่างไรก็ตามก็ยังอาจมีบางท่านให้ข้อสังเกตว่า แม้บางร้านปริมาณจะคงเดิม แต่คุณภาพก็อาจลดลง แต่ข้อนี้ ผู้สำรวจคงไม่สามารถไปตรวจสอบในรายละเอียดในระดับนั้น และคงอยู่ที่วิจารณญาณของทุกท่านที่พิจารณาผลการสำรวจนี้ ผู้ค้าบางรายกล่าวว่า ไม่สามารถขึ้นราคาอาหารได้เพราะคนซื้อไม่มีกำลังซื้อเท่าที่ควร ทั้งที่วัตถุดิบในการทำอาหารเพิ่มขึ้นก็ตาม จะสังเกตได้ว่าร้านที่ยังพยายามยืนราคาอาหารไว้ หรือไม่ขึ้นราคา จะมีผู้เข้าคิวอุดหนุนมากเป็นพิเศษ
ค่าเช่าพื้นที่ อีกหนึ่งตัวแปร ราคาอาหาร ปรับขึ้น
จากการสัมภาษณ์ผู้ค้าพบว่า สิ่งที่ส่งผลที่เด่นชัดกว่าก็คือ ค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกเพื่อการขายอาหาร หากค่าเช่าแพงขึ้นมาก ก็จะทำให้ราคาอาหารเพิ่มมากขึ้น บางแห่งเช่าพื้นที่ขนาดประมาณ 18 ตารางเมตร เป็นเงินถึง 60,000 บาทต่อเดือน (ตรม.ละ 3,333 บาท) ดังนั้นรัฐบาลหรือกรุงเทพมหานคร อาจช่วยจัดหาพื้นที่ค้าขายในราคาถูก เพื่อให้ผู้ค้าสามารถยืนหยัดขายในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ประชาชน
และด้วยเหตุที่ค่าเช่าพื้นที่ขายแพง ก็เลยมีร้านอาหารประเภท “อาหารกล่อง” คือให้ผู้ซื้อๆ กลับไปรับประทานที่อื่น จึงประหยัดค่าเช่าได้มาก ถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญ และตามศูนย์อาหารต่างๆ ก็พบว่า ร้านค้าหลายแห่งหายไป บางแห่งปิดร้านไปตั้งแต่ช่วงโควิดเมื่อ 1-2 ปีก่อน (2563-2564) อย่างไรก็ตามร้านค้าที่ปิดไปส่วนมาก เพิ่งปิดในช่วงปี 2564-2565 นี้เอง
นอกจากนี้ ยังคาดว่า ราคาอาหารในปี 2565-2566 น่าจะยังถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เศรษฐกิจของประเทศไทยก็ยังไม่ได้กระเตื้องขึ้นนักแต่เงินเฟ้อจะสูงมาก โดยดูจากราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ราคาวัสดุก่อสร้างก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาอาหารก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : www.area.co.th