ดีเลย์หนัก "ไฮสปีดไทย-จีน" 1.79 แสนล้าน เซ่นพิษโควิด

16 พ.ค. 2565 | 05:32 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2565 | 12:47 น.

ไฮสปีดไทย-จีน 1.79 แสนล้านบาท หลายสัญญาล่าช้า หลังโควิด-19ระบาดหนัก กระทบแผนเวนคืนที่ดิน-เอกชนเข้าพื้นที่ตอกเสาเข็มดีเลย์

"ไฮสปีดไทย-จีน" หรือโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคระยะที่1ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ถือเป็นเมกะโปรเจคต์ขนาดใหญ่ที่กระทรวงคมนาคมและภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

 

 

แต่ปัจจุบันยังพบว่าโครงการดังกล่าวติดปัญหาหลายเรื่อง เช่น การแพร่ระบาดจากสถานการณ์โควิด 19,ค่างานก่อสร้างที่มีราคาผันผวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเวนคืนที่ดิน และการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าออกไปหลายสัญญา

 

 

 

 รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการไฮสปีดไทย-จีน จำนวน 14 สัญญา ระยะทาง 253 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน179,400 ล้านบาท จำนวน 14 สัญญา แบ่งเป็นก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.

 

 

 

ขณะเดียวกันสัญญาที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 9 สัญญา ประกอบด้วย สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท ดำเนินการโดย บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริง คืบหน้า 85.29% ล่าช้า 14.71%

 

 

 

 สัญญาที่ 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 4,279 ล้านบาท โดย บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ คืบหน้า 0.56% ล่าช้า 11.83%

 

 

 

 สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท โดย บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์ และอุตสาหกรรม คืบหน้า 2.73% ล่าช้า 24.48%

สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท โดยบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ คืบหน้า 21.03% ล่าช้า 0.44%

 

 

สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า SPTK (บ.นภาก่อสร้าง ร่วมกับบริษัทรับเหมาประเทศมาเลเซีย) คืบหน้า 2.22% ล่าช้า 20.33%

 

 

 

สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 10,570 ล้านบาท โดย บมจ.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น คืบหน้า 0.01% ล่าช้า 0.01%

 

 

 

สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525.35 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า CAN (บจ.เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด คืบหน้า 0.83% ล่าช้า 10.90%

 

 

สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. วงเงิน 9,429 ล้านบาท โดย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น คืบหน้า 0.01% ล่าช้า 0.03% สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท โดย บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง คืบหน้า 16.11% เร็วกว่าแผน 1.77%

ส่วน 2 สัญญา อยู่ระหว่างการรอลงนามสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้าง ประกอบด้วย สัญญา 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก- บันไดม้าระยะทาง 30 กม. วงเงิน 9,930 ล้านบาท โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวล็อปเมนท์ เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,349 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่ 11,386 ล้านบาท ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนจากกรมบัญชีกลางไว้ชั่วคราว

 

 

 

 สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท โดยบมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวล็อปเมนต์ อยู่ระหว่างหาข้อสรุปทางกฎหมายในการปรับแบบสัญญาให้สอดคล้องกับรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ช่วงผ่านสถานีอยุธยาเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการเป็นพื้นที่มรดกโลก

 

 

 รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งอีกว่า ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงิน 18,000 ล้านบาท ปัจจุบัน รฟท.ได้จ้างบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด (บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด) บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) โดยรฟท.จะเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยให้เอกชนตามสัญญา ทั้งนี้ต้องรอการเจรจาแก้สัญญาสัมปทานกับเอกชนให้ได้ข้อสรุปก่อน

 

 

 

 ทั้งนี้อีก 1 สัญญา คือสัญญา 4-4 งานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มีการลงนามแล้วเสร็จ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการขอใช้พื้นที่เพื่อเวนคืนที่ดิน

 

 

 

อย่างไรก็ตามหากทุกสัญญาแล้วเสร็จ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะพร้อมเปิดใช้เส้นทางได้ภายในปี 2569 ตามแผนที่กระทรวงได้วางไว้