วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 เป็นวันเปิดเทอมวันแรกนั้น มีโรงเรียน หลายโรงเรียนได้มีการแจ้งเข้ามาถามว่าทำไมเด็กยังไม่ได้ดื่มนมโรงเรียน นั้น
ต่อกรณีนี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2565 ได้มีการประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานเรียบร้อยแล้วนั้น ในประกาศไม่มีการคุ้มครองสำหรับโรงงาน 5 ตัน/วัน ที่แตกสาขา จากการร้องเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) นับว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งกรมปศุสัตว์ ได้รับมอบหมายมาตั้งแต่ปี 2562 และ ปี 2563 ไม่มีปัญหาเลย
แต่พอปี 2564 มีผู้ประกอบการเริ่มคิดหาทางออก แตกสาขาเพื่อที่จะได้โควตาเพิ่ม เพื่อหวังจะได้การคุ้มครอง สิทธิพิเศษ ในปีนี้จึงเป็นที่มาของกรมที่ต้องการอุดรอยช่องโหว่ตรงนี้ โดยนำกฎหมาย เหมือน พ.ร.บ.ฮั้วฯ ตรวจสอบลักษณะกรรมการมีไขว้กันหรือไม่ การตรวจสอบผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันหรือไม่มาดูให้ละเอียด จะได้ชัดเจนว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันที่มาสมัครเข้าร่วมโครงการ ไม่เช่นนั้นก็จะมีการฟ้องร้องกันอีก เพราะฉะนั้นจะต้องเช็คข้อมูลให้ชัดเจน โดยให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบ เช่น การจดทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นต้น
“เร่งดำเนินการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องในการตรวจสอบผู้ยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการโดยไม่มีการแตกสาขาย่อย โดยปกตินมโรงเรียนให้เด็กได้ดื่มภายใน 2 สัปดาห์แรกในการเปิดเทอมถือว่าไม่ช้า และกรมปศุสัตว์มีความรอบคอบในการตรวจสอบศูนย์รวบรวมนำ้นมดิบที่จำหน่ายนำ้นมให้โครงการจะได้ถูกต้องมั่นใจ ตามเจตนารมณ์ของโครงการ"
นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในหลักการมีหลายคนบอกว่าคลุมเครือว่าจะคุ้มครอง 5 ตัน/วัน หรือไม่ ฝั่งสหกรณ์-โรงงาน ที่แตกสาขา 5 ตัน/วัน ก็ตีความว่าคุ้มครอง จึงทำให้ต้องโยนไปที่คณะฯอนุกลางฯ เป็นผู้ตัดสินว่าจะคุ้มครองหรือไม่ ทำให้วันแรกเด็กไม่ได้ดื่มนม ทำให้ล่าช้า
“กลุ่มนี้เป็นพวกศรีธนญชัย ทั้งที่ระเบียบ เขียนมาชัดเจนแล้วว่าไม่คุ้มครองสาขา คุ้มครองแค่โรงงานเดียว 5 ตัน/วัน อย่างไรก็ดีเห็นด้วยอธิบดี แต่อยากให้กระชับเรื่องเวลาให้เร็วนิดหนึ่ง"