นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีโอกาสที่จะติดลบถึง 1 แสนล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งในอดีตกองทุนก็เคยติดลบมาแล้ว แต่วิกฤตครั้งนี้มีความยากและท้าทายมากกว่า อีกทั้งกองทุนต้องมีภาระรายจ่ายในการอุดหนุนก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี (LPG) มาก่อนหน้านี้ด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนฯติดลบอยู่ 72,062 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 37,854 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 34,208 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าการกู้เงิน 20,000 ล้านบาท ของกองทุนฯนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการหารือสถาบันการเงิน และกระทรวงการคลังว่าจะดำเนินการอย่างไร หรือต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขอะไร โดยยังมั่นใจว่าจะมีเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องกองทุนภายในเดือนมิถุนายนนี้ตามแผน
ขณะที่ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม มีมติให้คงราคาดีเซลสัปดาห์นี้ไว้ที่ 32 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 22 พ.ค. หลังจากนั้นจะประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและดีเซลตลาดโลก เพื่อประเมินแนวทางการกำหนดราคาในประเทศอีกครั้ง
แม้ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่มเติมอีก 2 บาทต่อลิตร รวมกับครั้งก่อน 3 บาทต่อลิตร เป็น 5 บาทต่อลิตร แต่กองทุนฯยังคงนำไปลดราคาดีเซลในอัตรา 2 บาทต่อลิตรตามเดิม ส่วนอีก 3 บาทต่อลิตร จะนำไปช่วยลดภาระกองทุนที่ปัจจุบันติดลบไปกว่า 7 หมื่นล้านบาท
“ที่ไม่ได้มีการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลนั้น เพราะต้องการนำเงินไปเสริมสภาพคล่องกองทุนเพื่อช่วยตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 32 บาทต่อลิตรไว้ให้นานที่สุด หรือให้อยู่ในกรอบไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร"
นายกุลิศ กล่าวต่อไปอีกว่า การลดภาษี 5 บาทต่อลิตร เป็นส่วนของเนื้อดีเซล B0 ที่เดิมมีการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตที่ 6.44 บาทต่อลิตร และเมื่อลดลง 5 บาท จะเหลือเรียกเก็บภาษี 1.44 บาทต่อลิตร
แต่ปัจจุบันประเทศไทยใช้น้ำมันดีเซลแบบผสมที่ 7% หรือ B7 ที่เรียกเก็บภาษีอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร และเมื่อนำภาษีจากเนื้อดีเซลมาผสมจะส่งผลให้มีการลดราคาภาษีเหลืออยู่ที่ 4.65 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้คงเหลือเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตกับน้ำมัน B7 อยู่ที่ 1.34 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ดี การลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร ช่วยลดภาระการอุดหนุนของกองทุนลง 2.46 บาทต่อลิตร เพิ่มเติมจากเดิมที่ลดภาระได้ 79 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 7.25 บาทต่อลิตร ขณะนี้อุดหนุนดีเซลอยู่ที่ 9.41 บาทต่อลิตร จากสัปดาห์ก่อนอุดหนุนที่ 10.89 บาทต่อลิตร
ขณะที่ความจำเป็นในการปรับราคาดีเซลขึ้นไปอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตรนั้น ก็ต่อเมื่อกองทุนติดลบถึงระดับ 8 หมื่นล้านบาท หรือสมมติฐานราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนสูงขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะสิ้นสุดลง แต่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะมองว่าวิกฤตราคาน้ำมันยังไม่ได้หายไปทันที ต้องติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิดกันไปจนถึงสิ้นปีนี้
โดยประเมินราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบไม่เกิน 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 110-115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาดีเซลตลาดโลกไม่เกิน 140-145 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล