นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากากระทรวงพลังงาน เปิดเผยผ่านการเสวนาหัวข้อ "มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย" ในงาน “ถามมา…ตอบไป เพื่อประเทศที่ดีกว่า” (Better Thailand open Dialogue) ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังสามารถเติบโตได้ แม้จะมีปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่รัฐบาลก็จะพยายามแก้ปัญหา และด้วยความร่วมมือของคนไทยเชื่อว่าจะสามารถผ่อานพ้นวิกฤติดังกล่าวนี้ไปได้
ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยยังมีเสถียรภาพทางการเงินการคลัง ระดับความเชื่อมั่นยังคงที่ตามเดิม ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย แม้จะมีเสียงบ่นมากมายแต่สุดท้ายทุกคนก็ร่วมมือกัน เวลานี้รอเพียงให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างเต็มที่ และคิดว่าทุกคนจะสามารถปรับตัวได้
อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังได้ดำเนินการจัดเตรียมสร้างระบบนิเวศที่จะเสริมสร้างให้คนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็กเมื่อพ้นวิกฤติโควิด-19 จะปรับตัวก้าวสู่โลกใหม่ได้
และอนาคตไม่ว่าจะเป็นมิติเรื่องฐานการผลิตใหม่ เชื่อว่าประเทศไทยจะดีขึ้นกว่าเดิม และจะเดินไปข้างหยน้า ไม่ใช่ก้าวแบบเดิมๆ จะเป็นก้าวที่ทันโลกทันสมัย และจะเติบโตอย่างยั่งยืน พอเพียงในอนาคต
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า หากย้อนไปดูสถานการณ์การลงทุนในประเทศช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 53-62) ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 จะพบว่าในช่วง 5 ปีแรก (ปี 53-57) ไม่มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นเลย รายได้เข้าประเทศจึงเป็นผลจากการลงทุนเดิม แต่ช่วง 5 ปีต่อมา (ปี 58-62) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่การหารายได้เข้าประเทศนั้นเป็นการพยายามรักษาฐานรายได้เดิมที่มาจากการส่งออก โดยเน้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศส่งผลให้อัตราหนี้ครัวเรือนเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตรา 15% ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งรัฐบาลพยายามควบคุมไม่ให้สูงมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ภาวะการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมีเพียงการใช้หน้ากากและกำหนดมาตรการเว้นระยะห่าง แต่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ดีจนกระทั่งปลายปี 63 มาพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั่วโลกขาดแคลนวัคซีน
แต่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในวันที่ 1 พ.ย.64 ซึ่งนับถึงปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้ว 1.2 ล้านคน
"รัฐบาลพยายามประคับประครอง ไม่ให้อัตราหนี้ครัวเรือนสูงมากจนเกินไป นี่คือช่วงโควิด มีการพัฒนา มีการเตรียมการสำหรับอนาคต มีการสร้างรายได้รอไว้ เพื่อให้อนาคตของโครงสร้างการลงทุนต่างๆเกิดขึ้นได้ทัน"