เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ภาครัฐเริ่มคลายล็อกดาวน์เพื่อเปิดประเทศ อีกทั้งมีการยกเลิกระบบ Test & Go โดยนักท่องเที่ยวสามารถตรวจเชื้อโควิด-19 ก็สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ไม่เพียงเท่านนั้นภาครัฐได้มีการปรับโซนสีใหม่เหลือแค่โซนสีเหลืองและสีฟ้า ที่สามารถนั่งดื่มในร้านได้ถึงเที่ยงคืน และสั่งเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเด็กและบุคลากรครู เพื่อต้อนรับแผนเปิดเทอมแบบออนไซต์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
สำหรับการผ่อนคลายมาตรการของรัฐนั้นเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาบูมเหมือนช่วงปี 2562 ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการหลายธุรกิจที่จะกลับมามีรายได้เพิ่มขึ้นอีกครั้ง ไม่พ้นธุรกิจภาคการขนส่งสาธารณะเช่นกัน จากเดิมที่เคยหยุดให้บริการเดินรถในเส้นทางระหว่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
จากสถิติการเดินรถโดยสารระหว่างประเทศ ช่วงเดือนตุลาคม 2562 - มีนาคม 2563 ของบขส. พบว่ามีจำนวนผู้โดยสาร 364,315 คน จำนวน 15 เส้นทาง 12,427 เที่ยววิ่ง ส่งผลให้บขส.มีรายได้อยู่ที่ 38.456 ล้านบาท แต่หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บขส.ได้หยุดให้บริการการเดินรถ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ไม่มีผู้โดยสารใช้บริการในเส้นทางดังกล่าว
ล่าสุดนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปป.ลาว ได้เปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และเปิดด่านพรมแดนระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ทำให้มีการปลดล็อกด้านการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะและการขนส่งสินค้าบริเวณชายแดนเพิ่มมากขึ้นนั้น เบื้องต้นวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ทางกรมฯจะประชุมร่วมกับกรมขนส่ง สปป. ลาว ผ่านระบบ Zoom เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับมาเปิดเดินรถโดยสาร เส้นทางระหว่างประเทศระหว่างไทยกับลาว ซึ่งไทยจะมีบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) เป็นผู้ให้บริการ เช่น เส้นทางหนองคาย-เวียงจันทร์, อุดรธานี-เวียงจันทร์ และอุบลราชธานี-ปากเซ
สำหรับการประชุมในครั้งนี้จะมีการหารือรายละเอียดในการกลับมาเปิดเดินรถ เนื่องจากได้มีการหยุดให้บริการชั่วคราวในช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 ประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา หากจะเปิดให้บริการต้องกำหนดเส้นทางที่จะเปิดให้ชัดเจน รวมทั้งวันเวลาที่เปิดบริการ มาตรการเงื่อนไขการเดินรถภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขในการป้องกันโควิด-19 และสิ่งที่ผู้ประกอบการรถโดยสารเส้นทางระหว่างประเทศทั้ง 2 ฝ่ายต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเช็กสภาพรถ อุปกรณ์ส่วนควบต้องมีความมั่นคงแข็งแรง เพราะรถโดยสารไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานในช่วงที่มีการหยุดให้บริการ ขณะที่พนักงานขับรถต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการเดินรถที่พึงปฏิบัติเป็นประจำ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด เพื่อความปลอดภัยและเพิ่มความมั่นใจให้ผู้โดยสารในการเดินทางคบคู่ด้วย
นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า หลังจากประชุมแล้วเสร็จ กรมฯจะเร่งสรุปมาตรการต่างๆ ในการรองรับเปิดให้บริการเส้นทางรถโดยสารระหว่างประเทศ จากนั้นจะกำหนดเปิดบริการและประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากกลับมาเปิดให้บริการรถโดยสารเส้นทางระหว่างประเทศ ทำให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั้งสองประเทศได้ ปัจจุบัน สปป.ลาว มีการเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีนแล้ว ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่อาศัยอยู่ในเส้นทางดังกล่าวมีความเป็นไปที่จะนั่งรถโดยสาร เพื่อไปใช้บริการรถไฟลาว-จีน ท่องเที่ยวในประเทศลาวต่อไป
ดร.สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า ล่าสุด บขส. ได้กลับมาเปิดให้บริการ เดินรถเส้นทางระหว่างประเทศสายที่ 4 จังหวัดมุกดาหาร – สะหวันนะเขต แล้วหลังจากทาง สปป.ลาว ได้ผ่อนผันการเข้าออกบริเวณด่านชายแดน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยจะเดินรถผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 ระยะทาง 17 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 45 บาท ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศอื่น ๆ บขส. ยังคงหยุดการเดินรถชั่วคราว คาดว่าจะสามารถทยอยเปิดให้บริการได้ในเร็ว ๆ นี้
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน บขส. มีเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศ ไทย-สปป.ลาว จำนวน 13 เส้นทาง ขณะนี้ได้เปิดให้บริการไปแล้ว 1 เส้นทาง คือ เส้นทางมุกดาหาร-สะหวันนะเขต เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนอีก 12 เส้นทาง ยังไม่เปิดให้บริการ ได้แก่ 1.เส้นทางหนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์ 2.อุดรธานี-นครหลวงเวียงจันทน์ 3.อุบลราชธานี-ปากเซ 4.ขอนแก่น-นครหลวงเวียงจันทน์ 5.กรุงเทพฯ-นครหลวงเวียงจันทน์ 6.นครพนม-ท่าแขก 7.เชียงใหม่-หลวงพระบาง 8.อุดรธานี-หนองคาย-วังเวียง 9.กรุงเทพฯ-ปากเซ 10.เชียงราย-เชียงของ-บ่อแก้ว 11.เลย-แขวงไชยะบุรี-หลวงพระบาง และ 12.น่าน-หลวงพระบาง