ครม.รับทราบ คืบหน้าบูรณาการเชื่อมโยงทางรถไฟไทย-ลาว-จีน

18 ม.ค. 2565 | 09:39 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2565 | 16:45 น.

ครม.รับทราบการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน ด้านคมนาคมเร่งสร้างไฮสปีดไทย-จีน เฟส 1 คาดเปิดให้บริการปี 69 จ่อชงสผ.ไฟเขียวอีไอเอสร้างไฮสปีดไทย-จีน เฟส2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เล็งเปิดให้บริการปี 71

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 18 ม.ค. 2565 ได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ครั้งที่ 1/2565 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ   

 

 

 

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม รายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการการเชื่อมโยงทางรถไฟฯ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2565 ได้เห็นชอบแผนการก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ประกอบด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569  ระยะที่2 นครราชสีมา-หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) โดยคาดว่าจะเสนอต่อ ครม.ภายในปี 2565 และเปิดให้บริการได้ในปี 2571  และโครงการถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเสนอ ครม. ภายในเดือนม.ค. และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 

น.ส.ไตศุลี กล่าวว่า  ประเด็นต่อมาที่ได้มีการเห็นชอบคือ การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขง  ในส่วนของการบริหารจัดการสะพานเดิมระหว่างรอกการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ เพิ่มขบวนรถขาไป 7 ขวบน และขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวนต่อวัน รองรับสินค้าขบวนละ 25 แคร่ ส่วนการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ จะก่อสร้างใกล้กับสะพานเดิมอยู่แห่างออกไปประมาณ 30 เมตร มีทั้งรางรถไฟขนาดมาตรฐานและทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันได้ข้อตกลงว่าไทยและลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย และให้เร่งการจัดประชุมไตรภาคีเพื่อหารือแนวแทางเชื่อมโยงทางรถไฟ ในเดือนม.ค. 2565 

 

 

พร้อมกับเห็นชอบการพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าฝั่งไทย-ลาว เพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อในการขนสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว 

 น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเชื่อมโยงทางรถไฟฯ ยังได้เห็นชอบในหลักการการกำกับติดตามเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมทางหลวงชนบทเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับการลงนามในพิธีสารต่างๆ ระหว่างไทย-จีน การอบรมพัฒนาบุคลากร การเตรียมพื้นที่ด่าน สิ่งอำนวยความสะดวกในการกักกันและตรวจปล่อยสินค้าเกษตรทั้งขาเข้าและออก กรมศุลกากร ในส่วนโครงการระบบตรวจสอบ Mobile X-Ray กระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลการพัฒนาในฝั่งลาวเพื่อการแลกเปลี่ยนและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ในส่วนของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีและศูนย์กระจายสินค้าทางรางเพื่อรองรับรถไฟจากลาวและจีน 

 

 

 

นอกจากนี้ ได้มีการเห็นชอบในหลักการจัดทำความตกลง (Framework Agreement)การขนส่งทางรถไฟระหว่างไทย-ลาวและจีน โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดสิทธิการเดินทางรถไฟระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อให้เกิดการเดินรถไฟอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

 

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ยังได้รายงานให้ทราบถึงสถานะการค้าและการขนส่งภายหลังรถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการ เปรียบเทียบสถิติการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนหนองคายในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 กับช่วงธ.ค. 2564 พบว่าปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 116,552 ตัน เป็น 304,119 ตัน ขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้น 4.64 พันล้านบาท เป็น 6.91 พันล้านบาท มูลค่านำเข้าส่งออกที่ด่านหนองคายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีการเพิ่มรถไฟจาก 4 ขบวนเป็น 14 ขบวนต่อวัน และการขนส่งขบวนละ 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ ซึ่งสามารถมีศักยภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เท่า แต่ปริมาณการขนส่งยังไม่มากนักเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19