ผลไม้โปรดักส์แชมเปี้ยนตัวใหม่พืชเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ทำรายได้จากการส่งออกกว่า 2.5 แสนล้าน แซงหน้าทั้งข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ซึ่งในปีนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกผลไม้ไทยในภาพรวมที่ 2.8 แสนล้านบาท โดยมีตลาดใหญ่สุดที่จีน โดยปีที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งไปตลาดจีน (รวมฮ่องกง) มูลค่ากว่า 1.68 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี ปีนี้การส่งออกผลไม้ของไทยไปจีนต้องเผชิญปัญหาจากมาตรการ Zero Covid ของจีนโดยที่มีการตรวจเข้ม 100% ในสินค้าทุกตู้ ณ ด่านนำเข้าทั้งทางบก เรือ และอากาศทั่วประเทศ เพื่อคุมเข้มโควิดไม่ให้เล็ดลอดเข้าประเทศ กระทบการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนเกิดความล่าช้า ติดขัด มีต้นทุนและความเสี่ยงจากถูกระงับนำเข้าเพิ่มขึ้น
จากความสำคัญของสินค้าผลไม้ โปรดักส์แชมป์เปี้ยนตัวใหม่สินค้าเกษตรไทย “ฐานเศรษฐกิจ” จึงได้จัดสัมมนา The Big Issue 2022 : ผลไม้ไทย ผลไม้โลก “ทุเรียนแสนล้าน ฝ่าด่าน ZERO COVID” มีประเด็นที่น่าสนใจ ผ่านหลากหลายมุมของตัวแทนภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง
มั่นใจไทยผงาดเบอร์ 1 ผลไม้โลก
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลไม้ล่วงหน้าในคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด) กล่าวในการบรรยายพิศษ “วิกฤติ-โอกาสผลไม้ไทยสู่แดนมังกร” สรุปสาระสำคัญความว่า ในปีที่ผ่านมาไทยทำรายได้จากการส่งออกผลไม้ทุกประเภทเป็นเม็ดเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะผลไม้สดไทยสามารถส่งออกได้ถึง 1.9 แสนล้านบาท และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ราชาแห่งผลไม้คือ “ทุเรียน” ส่งออกได้เกินแสนล้านบาท มากกว่าการส่งออกข้าวที่ไทยส่งออกมานานกว่า 30 ปี
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ผลไม้ไทยมีปัจจัยเสี่ยงจาก 1.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบเศรษฐกิจ การค้าโลก 2.การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในจีน มีการล็อกดาวน์เมืองเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และล่าสุดคือ กรุงปักกิ่ง และเขตย่อยอีกกว่า 500 เขตทั่วประเทศ กระทบต่อระบบการค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงมาตรการ Zero Covid ที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนในปีนี้
การรับมือกับปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ทางกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ที่ได้เดินหน้ายุทธศาสตร์นี้มาเป็นเวลา 2 ปีเศษ โดยในส่วนของฟรุ้ทบอร์ดได้มีมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกล่วงหน้าก่อนผลผลิตออก 18 มาตรการ มีการอนุมัติงบประมาณสนับสนุน นอกจากจะสนับสนุนเพิ่มการบริโภคในประเทศจาก 30% เป็น 40% ลดการขนส่งทางบก (ทางรถยนต์)ไปจีน เหลือ 40% เพิ่มการขนส่งทางเรือเป็น 55% และเพิ่มการขนส่งทางราง (รถไฟจีน-ลาว) และทางอากาศเป็น 5% เพื่อให้สามารถส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้ตามกำหนด
เล็งใช้รถไฟจีน-ลาวลุยโลก
“การส่งออกผลไม้และสินค้าไทยผ่านรถไฟจีน-ลาวจะไม่ได้จบที่ประเทศจีน แต่เราจะใช้เส้นทางสายนี้ในการส่งสินค้าข้ามไปยุโรป เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง รวมถึงเกาะอังกฤษ เพื่อเชื่อมผลไม้ไทยสู่ตลาดโลก เวลานี้ได้มีการวางแผนและทำงานล่วงหน้าแล้วระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯที่ได้เจรจาทำความตกลงในการขนส่งสินค้าข้ามแดนแล้วกับคาซัคสถานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์”
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ในสินค้าที่ไทยส่งออกไปตลาดโลกกว่า 200 ประเทศ มีสินค้าเดียวที่ไทยเอาชนะสินค้าจีนได้อย่างเด็ดขาด และจีนเต็มใจให้ไทยชนะคือผลไม้ และทุเรียนคือดวงใจของชาวจีน ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดผลไม้อันดับ 1 ในจีนสัดส่วนกว่า 40% รองลงมาคือชิลี ที่เป็นผู้ส่งออกผลไม้เมืองร้อนอันดับ 1 ของโลก (ชิลีส่วนแบ่งตลาดโลก 21% ส่วนไทยมีส่วนแบ่ง 20%) มีส่วนแบ่งตลาดจีน 15% และเวียดนามส่วนแบ่งตลาด 6% จากที่ทุกฝ่ายของไทยได้ร่วมมือร่วมใจกันในการผลักดันการส่งออกผลไม้ในปีนี้ โดยสร้างความเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพมาตรฐานให้กับผู้บริโภคทั่วโลก ดังนั้นเชื่อว่าในปีนี้ไทยจะก้าวสู่การเป็นแชมป์ผู้ส่งออกผลไม้อันดับ 1 ของโลกแซงหน้าชิลีได้
“เฉลิมชัย” ขอรักษาคุณภาพมาตรฐาน
ด้าน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ปลูกผลไม้ที่อร่อยที่สุดในโลก โดยเฉพาะทุเรียน ดังนั้นจึงขอให้พี่น้องเกษตรกรรักษาคุณภาพมาตรฐานผลผลิตเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการสร้างเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลใช้ตลาดนำการผลิต และช่วยเกษตรกรขายสินค้าผ่านช่องทางทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ
หากจับมือร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร การส่งออกผลไม้ในอนาคตจะเพิ่มเป็น 3 แสนล้าน หรือ 4 แสนล้านได้ ซึ่งมีผลผลิตเพิ่มขึ้นก็สามารถขายได้หมด ขณะที่การส่งออกไปตลาดจีนปัจจุบันที่มีอุปสรรคเรื่อง Zero Covid ในส่วนของเกษตรกร ล้ง(โรงคัดบรรจุ) และผู้ส่งออกต้องดำเนินตามมาตรฐาน GAP Plus และ GMP Plus อย่างเข้มงวด รวมถึงไม่ส่งออกทุเรียนอ่อน
ทุเรียนอีก“ซอฟต์พาวเวอร์”ไทย
ในช่วงเสวนา “ปฏิบัติการรวมพลัง ทุเรียนแสนล้าน ฝ่าด่าน ZERO COVID” นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ผลไม้เมืองร้อน โดยเฉพาะทุเรียน ถือเป็นอัตลักษณ์ประเทศไทยหรือซอฟต์พาวเวอร์ที่มีความเข้มแข็งและชัดเจนมาก ในปี 2564 ทุเรียนไทยส่งออกได้มากว่า 8 แสนตัน มูลค่ากว่าแสนล้านบาท ขณะที่การขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน และการส่งเสริมการเพาะปลูกทำให้ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน ณ ปัจจุบันกว่า 9 แสนไร่เศษ คาดผลผลิตปีนี้จะมีปริมาณ 1.2 ล้านตัน เป็นโอกาสของประเทศไทยในการสร้างรายได้เข้าประเทศอีกมาก
ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร ได้ประสานกับทูตเกษตรที่อยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศจีน (ปังกิ่ง ,เซี่ยงไฮ้,กว่างโจว) ในเรื่องกฎเกณฑ์การส่งออกเข้าสู่ประเทศจีนได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกในการวิเคราะห์เรื่องดิน ปุ๋ย ให้ความรู้เกี่ยวกับพี่น้องเกษตรกรในเรื่องการกำจัดแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ ซึ่งเป็นกรอบการทำงานและภารกิจที่จะทำให้การส่งออกทุเรียนแสนล้านได้อย่างราบรื่น และมีความมั่นคง
“กรมวิชาการเกษตรได้ทำงานอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด ในการควบคุมดูแลคุณภาพทุเรียน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการตัดทุเรียนอ่อน การกำหนดวันตัด หรือ การควบคุมให้โรงงานคัดบรรจุ (ล้ง) มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ขณะที่เมื่อทุเรียนเป็นสินค้าเกษตรกรดาวรุ่งแสนล้าน ควรจะต้องมีเงินกลับเข้ามาเพื่อการวิจัยและพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุเรียนสายพันธุ์ใหม่หรือสายพันธุ์ดั้งเดิม จะทำอย่างไรให้ทุเรียนเหล่านี้มีการทนทานต่อโรค หรือมีรสชาติที่ตอบสนองผู้บริโภคในหลายมิติ และควรจะใช้โอกาสการประชุมเอเปคในไทย จะมีการประชุมรัฐมนตรีเกษตรและอาหารเช่นเดียวกัน เสนอให้มีกลุ่มวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจีโนม สำหรับสินค้าดาวรุ่งในพืชต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน กัญชา กัญชง กระท่อม ถ้ามีการใช้เทคโนโลยีระดับสูงเข้ามาน่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาต่อยอดได้อย่างดี”
จี้เร่งระบายช่วงกระจุกตัว
นายภาณุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย (TDA) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนไทยต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งปริมาณฝนที่ตกชุก ทุเรียนออกดอกช้าทำให้ผลผลิตช้า การสลัดลูกอ่อน เชื้อราทั้งลำต้นและลูก รวมถึงปัญหา Zero Covid ของทางจีน ขณะที่ผลผลิตของทุเรียนในภาคตะวันออกของปีนี้ คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 7.44 แสนตัน เติบโตขึ้นกว่า 20% จากปีก่อนซึ่งมีปริมาณผลผลิต 5.7 แสนตัน
ด้านการส่งออกในปี 2564 มีปริมาณ 8.8 แสนตัน ซึ่งปีนี้ในช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. พบว่ามีปริมาณการส่งออกลดลง ซึ่งมาจากหลายสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น โดยข้อมูลกรมวิชาการเกษตร พบว่า ปริมาณการส่งออกทุเรียนไปจีน ตั้งแต่ 1 ก.พ-16 พ.ค. 2565 มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 2.42 แสนตัน แบ่งเป็น การขนส่งทางบก 8.2 หมื่นตัน การขนส่งทางเรือ 1.41 แสนตัน และการขนส่งทางอากาศ 1.8 หมื่นตัน
“ยังต้องรอดูสถานการณ์การส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ในเดือนพ.ค. – มิ.ย. นี้ ซึ่งเบื้องต้นไทยเองต้องเคร่งครัดการดำเนินการมาตรฐาน GMP Plus เพื่อไม่ให้มีเชื้อโควิดหลุดรอดไป อย่างไรก็ดีต้องรอดูจนถึงวันที่ 10 มิ.ย. นี้ หากระบายผลผลิตทุเรียนได้ ปัญหาต่าง ๆ จะลดลงเพราะพ้นช่วงผลผลิตกระจุกตัว อย่างไรก็ดีทั้งภาครัฐ เกษตรกร และผู้ส่งออกยังต้องเข้มข้นกับมาตรการ GMP Plus เพราะไม่รู้ว่าจีนจะคง Zero Covid อีกนานแค่ไหน”
อย่างไรก็ดี แม้ผู้ส่งออกไทยจะขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ แต่ต้องทำควบคู่กับตลาดจีนไป เพราะเป็นตลาดหลักมีสัดส่วนการส่งออกถึง 90% รวมทั้งการโปรโมตทุเรียนในหลากหลายช่องทาง เพื่อสร้างให้ทุเรียนไทยเป็นเบอร์ 1 ในใจผู้บริโภคจีน เพราะวันนี้ไทยกำลังเผชิญกับคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนามที่มีจุดแข็งด้านการขนส่งที่ถูกกว่า และสปป.ลาว ที่มีโควต้าส่งออกทุเรียนไปจีนได้ ดังนั้นไทยต้องทำการตลาด ทำผลผลิตต้นทางให้มีคุณภาพดี ทำห่วงโซ่ทุเรียนไทยให้มีความยั่งยืนในอนาคต
ดันพันธุ์“โอวฉี”-ลุยเฟรนช์ฟรายทุเรียน
นางสาววรัญญภัคก์ ศรีมหัทธนเวคิน ประธานกรรมการ บริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทส่งออกทุเรียนลูกสด และทุเรียนแช่แข็งซึ่งเป็นโรงงานเดียวของไทยที่ใช้อุณหภูมิ ลบ 60 องศา แทนไนโตรเจนที่มีราคาสูง เพราะต้องการให้ไทยเป็นทั้งราชินีผลไม้และราชาผลไม้ เพราะถ้าทุเรียนเป็นผลไม้ที่ทั่วโลกนิยม จนส่งไปอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียได้ด้วยวิธีแช่แข็งจะลดกลิ่นทุเรียนลง ทำให้ชาวต่างชาติสามารถทานได้
บริษัทมีแผนจะผลิตเฟรนช์ฟรายทุเรียน แทนเฟรนช์ฟรายมันฝรั่งพร้อมส่งออกได้ทั่วโลก มีกลิ่นหอมหวานอร่อย จะสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกมหาศาล แม้ราคาทุเรียนปีนี้จะสูงขึ้น 30% แต่ไม่พอต่อความต้องการของตลาด เพราะไปติดปัญหาใหญ่คือ เรื่องขนส่งไปตลาดจีนที่ใช้ระยะเวลานานทำให้เกิดความเสียหาย และตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน
ทั้งนี้อยากฝากให้ภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์ เพื่อให้ชนะทุเรียน มูซังคิง(ของมาเลเซีย) เช่น สายพันธุ์โอวฉีหรือทุเรียนหนามดำ ที่มีรสชาติหอมหวานอร่อย เนื้อละเอียด ความต้องการแม้แต่บริโภคภายประเทศก็ไม่พอ คนจีนบอกมีเท่าไรซื้อไม่อั้น แต่เกษตรกรไทยยังไม่ทราบว่ามีพันธุ์นี้ ซึ่งผลผลิตใกล้เคียงกับหมอนทอง และได้ราคามากกว่าหมอนทองมาก และยังแซงหน้ามูซังคิงอีกด้วย
“ฝากทุกภาคส่วนให้ช่วยส่งเสริมเพราะตลาดต้องการมาก แต่วัตถุดิบน้อย ทำให้สามารถผลิตสินค้าโดยไม่ต้องรอตลาด เพราะความต้องการตลาดสูง ตอนนี้มีบริษัทที่เป็นของคนจีนปลูกทุเรียนโอวฉี 700 ไร่ อยากฝากภาคเกษตรขยายกิ่งพันธุ์ให้มาก และอยากทำแบรนด์ให้เกษตรกร ถ้าแบรนด์ติดตลาด เราเล่นตัวได้เลย เพราะแบรนด์นี้ประเทศจีนต้องถามหา และเราได้ราคา สมมุติคนอื่นขายได้ 700 หยวน เราจะต้องได้ 750-800 หยวน”
ไปรษณีย์ไทย พร้อมส่ง-ขาย
นายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ สายงานธุรกิจองค์กรบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งผู้ซื้อและผู้ขายนิยมขายแบบออนไลน์มากขึ้น เห็นได้จากการที่หลายสวนผลไม้มีการไลฟ์สดขายสินค้าผ่านออนไลน์ ขณะที่ไปรษณีย์ไทยสนับสนุนภาคการเกษตรให้มีระบบการขนส่งที่ดีมีมาตรฐาน ร้านค้าหรือร้านอาหาร มีช่องทางการซื้อขายและใช้การขนส่งโลจิสติกส์อีกรูปแบบ
“แนวโน้มผู้ประกอบการ ชาวสวนหรือสมาร์ท์ฟาร์มเมอร์จะใช้วิธีการขายตรงถึงผู้บริโภค ทำให้ได้ราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันทางผู้ซื้อและผู้ขายจะมีการการันตีสินค้าที่จัดส่งให้มีคุณภาพ เช่น ทุเรียนจะมีระยะเวลาการตัดเพื่อนำมาบริโภค รวมทั้งมีการการันตีด้านคุณภาพ เมื่อมีการซื้อขายออนไลน์จะมีการส่งพัสดุลงบรรจุภัณฑ์ ซึ่งไปรษณีย์ไทยมีการพัฒนาระบบการรับผลไม้ถึงสวน และมีการการันตีระยะเวลาการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค”
นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยยังใช้พื้นที่ทำการที่มีราว 1,000 สาขาทั่วประเทศ เป็นจุดช่วยจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร เช่น ร่วมมือกับชาวสวนนำทุเรียนคุณภาพดีมาวางจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันกระแสตอบรับดีมาก จึงไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย รวมทั้งยังมีการจำหน่ายทางออนไลน์ผ่าน www.thailandpostmart.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ส่งเสริมสินค้าทางการเกษตรและสินค้าแปรรูปการเกษตรของชุมชนโดยตรง ที่มีระบบการส่งสินค้าที่ให้บริการถึงจุดหมายปลายทางของผู้บริโภค
“บิ๊กซี”จัดบุฟเฟ่ต์ทุเรียนปลุกตลาด
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และบมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า บิ๊กซีมีช่องทางในการดันทุเรียนไปตลาดโลก หรือทำให้ตลาดผลไม้ไทยเป็นที่ยอมรับผ่านการทำงานในหลายมิติ เช่น การเข้าไปช่วยให้ความรู้ในเรื่องของการพัฒนาพันธุ์และการเพาะปลูกอย่างไรให้ได้มาตรฐาน สำหรับวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและส่งออกได้ โดยเข้าหาสหกรณ์เกษตรผักและผลไม้ทั่วประเทศ ปัจจุบันได้ร่วมกับสหกรณ์ทางภาคเหนือในการซื้อผักผลไม้โดยตรงและให้ความรู้ว่าควรปลูกแบบไหน และคัดมาตรฐานแบบใด
อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของ บิ๊กซี คือเรื่องของตลาด ซึ่งบิ๊กซีได้พัฒนาร้านค้าทั้งในไทยและในอาเซียนรวมกว่า 2,000 จุดโดยมีฐานที่เวียดนาม ลาว กัมพูชาและไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมายังได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ในการพยายามสร้างความตื่นเต้นและหวือหวาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการจัดบุฟเฟ่ต์ทุเรียน ซึ่งก็เป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างความตื่นเต้นให้กับตลาด
“ปีนี้ บิ๊กซีได้จัดแคมเปญ บุฟเฟ่ต์ทุเรียน 399 บาทกินไม่อั้น 1 ชั่วโมง ใน 9 สาขาทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกค้าของบิ๊กซีทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้าร่วม แม้ว่าจะขายไม่ได้มากแต่ก็สามารถสร้างความตื่นเต้นให้ตลาดพอสมควร และมีคู่แข่งทยอยออกโปรบุฟเฟ่ต์ทุเรียนตามมาอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยให้ราคาผัก ผลไม้ของเมืองไทยดี เกษตรกร ผู้ปลูกก็อยู่ได้ นอกจากนี้บิ๊กซียังมีโครงการ Smart Local เพื่อพัฒนา SME ไม่ว่าจะเป็นการนำผัก ผลไม้มาแปรรูป ซึ่งบิ๊กซีในหลายสาขาที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น ราชดำริ ที่ตอนนี้นักท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาแล้วจากนโยบายของรัฐบาลที่เปิดประเทศ ก็นำสินค้าที่เป็น OTOP และ SME ต่าง ๆ เข้ามาขาย เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้มาจับจ่ายซื้อหาได้ด้วย
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3785 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม 2565