กนป.ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม แก้ปัญหาได้จริงหรือ

24 พ.ค. 2565 | 12:39 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2565 | 20:21 น.

ฟังจากปากชาวสวน สะท้อนมุมมอง “บิ๊กป้อม” ประธาน กนป.งัดไม้แข็ง ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม แก้ปัญหาราคาก่อนดิ่งเหว “มนัส-อธิราษฎร์” ยั๊วะไอ้โม่งปั้นข่าวเท็จ “เก็บภาษีส่งออก-เพิ่มสต๊อก” ในประเทศ ฉวยจังหวะทุบราคาร่วง ไร้คนแก้ต่าง เชียร์ อนุฯ แจ้งเกิด

ด้วยในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ  (กนป.) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่23 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาด ราคา รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์ม การค้า และการบริโภคในประเทศ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการจัดสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศให้มีเพียงพอ และมีปริมาณคงเหลืออยู่ในระดับที่เหมาะสม นั้น

 

มนัส พุทธรัตน์

 

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กนป. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม แล้วยังมีการเสนอตัวแทนกลุ่มเกษตรกรเข้าไปเพิ่มเติม แต่มีคนคัดค้านก็ไม่ทราบเหตุผลคัดค้านเพื่ออะไร

 

ก่อนหน้านี้มีข่าวลือเรื่องที่จะเก็บภาษีการส่งออก เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง สาเหตุมาจากข่าวลือดังกล่าวนี้ ทำให้ราคาปาล์มในประเทศปรับตัวลง ทำให้เกิดความเสียหายกับเกษตรกร ไม่มีเหตุที่จะใช้มาตรการนี้ อีกทั้งผลผลิตก็มีทุกเดือน แล้วก็มีแท็กก์ไซโลเก็บอยู่แล้ว แต่พอเกิดข่าวลือ ก็ไม่มีใครออกมาแก้ข่าว ที่ผ่านมาได้มีการชี้แจง ก็ไม่มีใครเชื่อ ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกร ผู้บริโภค รับได้ บริโภคน้ำมันปาล์มไม่แพงมาก เกิดความสมดุลทั้งห่วงโซ่ มีความเป็นธรรมในระบบ จึงเกิดแนวคิดในการตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์มดูแลขึ้นมา

 

นายมนัส กล่าวว่า คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม เป็นคณะเล็กๆ เพราะถ้ารอชุดใหญ่ประชุมปัญหาที่เกิดขึ้นจะเข้าข่ายคำพังเพย “ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ ” เพราะจะได้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที รู้เขา รู้เรา เกษตรกรไม่ได้เป็นคนกำหนดราคา แต่เป็นผู้ผลิตนำวัตถุดิบมาป้อนเพื่อเป็นอาหารของโลก แล้วในกรณีที่บางประเทศขาดแคลน ของเรามีเหลือ จะเก็บไว้ทำไม ดีกว่าให้ กฟผ.ไปเผาทิ้ง เช่นโครงการในอดีต ดังนั้นเพื่อการบริหารจัดการที่สมดุล จึงมีการตั้งคณะอนุฯ นี้ขึ้นมา เราไม่ไช่เข้าไปเพื่อที่จะเป็นตรายาง

 

“เราเป็นเกษตรกร ไม่ใช่เป็นกลุ่มผู้ผลิต เงินทุกบาททุกสตางค์อยู่ที่ผลปาล์ม จะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเองทำไม ยอมเอาเงินออกจากกระเป๋าตัวเอง เป็นไปไม่ได้ เกษตรกรต้องไปดูแลผลประโยชน์ตัวเอง ไม่ได้มีเงินเดือน ไม่ได้บำเหน็จบำนาญ ทุกบาททุกสตางค์มาจากน้ำพักน้ำแรง ดังนั้นเชื่อใจได้ว่าเราไปดูแลผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกร อย่าให้คนที่เอาการเมืองมาชักจูงไปในทางที่ผิด ให้หลงผิดคิดตามไป ซึ่งการตั้งคณะอนุฯชุดนี้มีประโยชน์ รู้เขารู้เรา  รู้ความเคลื่อนไหวทั้งระบบ แล้วจะมาบอกกับพี่น้องเกษตรกรอย่างแน่นอน ถ้าได้เข้าไปนั่งเป็นคณะอนุฯ ในชุดดังกล่าวนี้

 

อธิราษฎร์ ดำดี

 

นายอธิราษฎร์ ดำดี อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) และที่ปรึกษาคณะกรรมการปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุที่ปาล์มราคาตกต่ำ ไม่เกี่ยวกับอินโดนีเซียที่จะส่งออก  เพราะราคาร่วงเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ก่อนที่อินโดนีเซียจะแถลงให้ส่งออกแล้ว เชื่อว่ามีไอ้โม่ง พยายามสร้างข่าวเท็จเพื่อพยายามให้ทุบราคาในประเทศลง โดยอ้างว่าจะเพิ่มภาษีส่งออก เพื่อเพิ่มในประเทศ ไม่เป็นข่าวจริงเลย เอามาจากไหน แล้วคนที่ให้ข่าวก็ไม่ได้เข้าประชุมด้วย

 

“ผมยึดถือระบบความถูกต้อง ราคาจะถูกจะแพง เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องสะท้อนราคาตลาด เป็นราคายุติธรรมหรือไม่ ซึ่งคณะอนุฯ ชุดนี้ ผมตั้งฉายา ว่าเป็น “หนังหน้าไฟ”  มีหน้าที่ศึกษา ประเมินและรายงาน ต้องส่งให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย อย่างน้อยตัวแทนเกษตรกรจะได้รับทราบความเคลื่อนไหว จะได้แสดงความคิดเห็นกับกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นการถ่วงดุลในระบบบริหารปาล์มน้ำมันดีกว่าจู่ให้ราชการประกาศฝ่ายเดียว หรือโรงงานประกาศฝ่ายเดียว

 

นายอธิราษฎร์ กล่าวว่า ในส่วนราคาผลปาล์มวันนี้ไม่แน่ว่าสะท้อนมาจากราคาปาล์มในส่วนไหน อย่างมีกฎหมายราคาโรงงานประกาศ 18% แต่โรงงานให้ราคาไม่ได้ เพราะสกัดน้ำมันได้เปอร์เซ็นต์ต่ำ โรงงานแย่งกันซื้อผลผลิต เกษตรกรก็รีบตัด ก็แสดงว่ากฎหมายอุตสาหกรรมโรงงานที่ควบคุมคุณภาพไม่ทำงาน เรามีองค์ประกอบที่ง้อยเปลี้ยเสียขา

 

สิทธิพร จริยพงศ์

 

นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คนที่ 2  กล่าวว่า ราคาผลปาล์มในขณะนี้ราคาเฉลี่ย 8-9 บาท/กิโลกรัม ซึ่งทาง พล.ประวิตร ได้กล่าวในที่ประชุม กนป. จะรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มให้อยู่ในระดับนี้ ไม่ให้ต่ำไปกว่านี้ ซึ่งท่านได้สั่งการไปแล้วด้วย ผมว่า ราคาปาล์มที่เหมาะสมก็ควรอยู่ในระดับนี้ ระบบไปได้ทุกส่วน เกษตรกรรับได้ ผู้บริโภคปลายทางรับได้ หากนำไปทำบี 100 ผสมเป็นไบโอดีเซลราคาไม่แพงมากนัก

 

“หากเป็นในอดีตราคาผลปาล์มอาจจะดูแพง แต่ว่าราคาปุ๋ยเคมีปรับขึ้นมา หากราคาปาล์มไม่ต่ำกว่า 8 บาท/กก. รับกันได้ ต้นทุนเกษตรกรอยู่ที่ 6 บาทกว่า/กิโลกรัม ส่วนสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบวันนี้สมดุลไม่น้อยไม่มากเกินไป แต่ถ้ามากเกินไปก็ให้ผลักดันส่งออก แต่ถ้าส่งออกไม่ได้ให้เพิ่มบี แต่ถ้าน้ำมันมีน้อย ก็ให้ลดบี ต้องยืดหยุ่น อย่างนี้เห็นด้วย”

 

สต๊อกน้ำมันปาล์ม ณ สิ้นเดือน เม.ย. 65

 

แต่ไม่ใช่แบบในอดีตต้องจำกัดเลยว่าสต๊อกในประเทศจะต้องมีปริมาณ 3 แสนตัน ล็อคไว้เลย ไม่มีการยืดหยุ่น ซึ่งกระทรวงพลังงานมีแถลงในที่ประชุม ถ้าน้ำมันปาล์มมากก็จะเพิ่มบี  แต่ถ้าปาล์มน้อยจะลดบี นี่ เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวนี้ ซึ่งในปีนี้ผลผลิตไม่ค่อยมีลูกปาล์ม แต่ถ้าลดบีลงมา ตอนนี้เป็นบี 5  ใช้ในประเทศ การบริโภค คาด 1 เดือน ในภาพรวมใช้ ไม่เกิน 1.8 แสนตัน ก็เพียงพอไม่มากไม่น้อย นับว่านิมิตรหมายดีในปีนี้ที่มีการเกาะติด และติดตาม ประกอบกับสถานการณ์ราคาโลกช่วยด้วย

 

นายสิทธิพร กล่าวว่า อยากจะฝากถึงคณะอนุฯ ชุดนี้ ในการดูแลเรื่องสต๊อก ปรับสมดุลปริมาณซีพีโอ ตัวเลขยืดหยุ่น ให้ดูว่าการใช้ในประเทศมีเท่าไร ในแต่ละเดือน ใช้เท่าไร ยกตัวอย่าง เดือน พ.ค. ปริมาณการใช้ 1.5 แสนตัน แต่ถ้าสต๊อกเหลืออยู่ 2 แสนกว่าตันก็ถือว่าสมดุล (สำหรับตัวเลข 1.5 แสนตัน มาจากข้อเสนอของโรงงานต่างๆ ถ้าส่งออกไม่ได้ก็ให้เพิ่มบี แต่ถ้าสต๊อกอยู่ใน 1.5 แสนตัน เท่ากับปริมาณการใช้ ถือว่าไม่เหลือไม่ขาด ) ต่างจากเมื่อก่อนในอดีตตั้งตัวเลขตายตัว กว่าจะได้ประชุม กนป. 2-3 เดือน ไม่ทันการ ผมเห็นด้วยกับการตั้งคณะอนุฯ ชุดนี้ สามารถพูดคุยประชุมหารือได้ทุกอาทิตย์

 

พันศักดิ์ จิตรรัตน์

 

ปิดท้าย นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการ กนป. กล่าวว่า การตั้งคณะอนุฯ ชุดนี้จะได้ทราบความเคลื่อนไหวว่าตลาดในประเทศ ตลาดโลก มีสถานะอย่างไร จะได้รายงาน กนป.ให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้น มาดูแล ควบคุมสต๊อก การทำงานจะได้ชัดเจนและรวดเร็วขึ้น ซึ่งในที่ประชุมตอนแรกจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนคัดสรรแต่งตั้งขึ้นมา เป็นตัวแทน 5 จังหวัดที่ปลูกปาล์มน้ำมัน

 

แต่สรุปแล้วให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมการค้าภายใน เนื่องจากไม่เช่นนั้นเกรงว่าจะเสียเวลา เราก็ต้องรีบมาดูว่าอินโดนีเซียมีการส่งออกอย่างไร ทางไทยจะมีการปรับกันอย่างไร สต๊อกน้ำมันในขณะนี้เป็นอย่างไร เพื่อความชัดเจน หากมีคำสั่งแต่งตั้งแล้ว คาดว่าจะประชุมทันทีเลย ในเร็วๆนี้ ส่วนผลผลิตในขณะนี้ไม่มาก แต่ไม่ขาดแคลน

 

คำสั่ง กนป. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม

 

ราคาผลปาล์ม ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2565

 

จังหวัดกระบี่

 

จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

จังหวัดชุมพร

 

จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

จังหวัดพังงา