‘ชัชชาติ’ รื้อสัญญาสายสีเขียว ย้ำต่ออายุสัมปทาน BTS ต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน

25 พ.ค. 2565 | 00:22 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2565 | 07:33 น.

‘ชัชชาติ’ รื้อสัญญาสายสีเขียว ย้ำต่ออายุสัมปทาน BTS รวมถึงสัญญาจ้างการเดินรถต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน ส่วนกรณีหนี้สินค่าก่อสร้างที่รัฐบาลโอนมาให้ กทม. กว่า 6 หมื่นล้านบาท ต้องดูว่าผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องหรือไม่ สภากทม. รับรองมีมติหรือยัง

กรณีการต่ออายุสัมปทาน ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ BTS ซึ่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่ารอหารือกับนายชัชชาติว่า ต้องดูรายละเอียด 3 เรื่อง คือ เรื่องหนี้สิน , สัญญาเดินรถ และเรื่องการต่อสัญญา 40 ปีโดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯนั้น

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯกทม.กล่าวถึงการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ว่าคงต้องมีการถามกลับไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า ทำไมถึงต้องต่อสัญญาสัมปทานถึง 40 ปีโดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ  เพราะผมมองว่า .ร.บ.ร่วมทุน เป็นเรื่องดีที่มีคนนอกหน่วยงานมาดูแล ไม่ใช่แค่คณะกรรมการชุดเล็กๆ ที่ตั้งขึ้นมา และมีการแข่งขันราคากัน 


หากมีการแข่งขันราคา ก็จะได้เห็นราคาที่เป็นธรรมขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้มีอคติว่าผิดหรือถูก แต่เชื่อมั่นในระบบที่มี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

ส่วนกรณีหนี้สินค่าก่อสร้างที่รัฐบาลโอนมาให้ กทม. กว่า 6 หมื่นล้านบาท ต้องดูว่าผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องหรือไม่ สภา กทม. รับรองมีมติหรือยัง ซึ่งหากมีมติรับถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็ต้องว่าไปตามหลักการ รวมถึงพิจารณาถึงสัญญาจ้างการเดินรถที่ผ่านมา ถูกกฎหมาย มี พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ เพราะเป็นสัญญาจ้างระยะยาว

 

อย่างไรก็ตามคงไม่ได้พูดคุยกับรัฐบาลโดยตรง แต่จะส่งเป็นหนังสือชี้แจงความเห็นเข้าไปเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตนมองว่า กทม. เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินใจของรัฐบาลเท่านั้น และมองว่าควรต้องคิดให้รอบคอบก่อน เพราะถ้าผ่าน ครม. แล้วคงแก้ไขยาก และ ครม. เองยังมีการเห็นแย้งกัน


ดังนั้นคงไม่ผิดที่จะขอดูให้ละเอียดก่อน ยืนยันว่าเป็นเรื่องเหตุผล ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ และส่วนตัวยืนยันในหลักการว่า หากไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เท่ากับไม่ตรงตามหลักการของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะผ่าน ม.44 มา


ส่วนในอนาคตจะมีการใช้บัตรใบเดียวในการเชื่อมต่อการเดินทางหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า บัตรใบเดียวเข้าทุกระบบได้ก็มีความเป็นไปได้ แต่ที่กังวลคือโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมที่มีความซ้ำซ้อน เพราะบัตรใบเดียวอาจจะจ่ายแพงเนื่องจากมีค่าแรกเข้า

 

ตนมองว่า กทม. กับ BTS ควรต้องหารือกันเองก่อนว่าถ้ามีส่วนต่อขยายเข้ามาพื้นที่สัมปทาน BTS เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่มีค่าแรกเข้า และหากมีโอกาสหารือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ก็ควรหารือถึงราคาค่าแรกเข้าด้วย

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าต่อสัมปทาน ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ว่า ต้องพิจารณา พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการ และหน่วยงานที่พิจารณาอยู่ ก็ต้องคุยกัน ซึ่งมีการเปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่แล้ว มันเป็นภาระที่ต่อเนื่อง ฝากช่วยกันแก้ไขให้เดินได้ และทำให้ถูกต้อง 

 

ตนก็ไม่ได้ว่ามันผิดหรือถูก หลายอย่างอยู่ในกรอบของคณะกรรมการทั้งนั้น นายกรัฐมนตรีก็ให้นโยบายไป และครม. เป็นผู้อนุมัติ แต่ทุกคนต้องไปทำตามกฎหมายที่มีอยู่

 

ส่วนกรณีนายชัชชาติ  ไม่เห็นด้วยถ้าจะมีการต่อสัมปทาน โดยอยากให้หาวิธีใหม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปดู ซึ่งมีทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ ผู้ได้สัมปทาน

 

แต่สิ่งที่สำคัญคือ ยิ่งช้ายิ่งเสียประโยชน์ และประชาชนเดือดร้อน เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะใครก็ตาม ตนไม่ได้เป็นศัตรูกับใครอยู่แล้ว อยากทำงานด้วยหลักการ ด้วยกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน ตนต้องระวังอย่างที่สุด