รอเลย! สภาพัฒน์ นัดถกต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพ สัปดาห์หน้า

25 พ.ค. 2565 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2565 | 12:18 น.

เลขาธิการ สภาพัฒน์ ยอมรับเตรียมหารือรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยงานเศรษฐกิจ สัปดาห์หน้า ถกต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพ รับมีแหล่งเงินรองรับ แต่ต้องดูว่าจะทำมาตรการอะไร ช่วยกลุ่มไหนเป็นการเฉพาะบ้าง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์หน้าสศช.เตรียมหารือหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ ถึงแนวทางการต่ออายุ มาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ผลักดันออกไป 10 มาตรการ และกำลังจะหมดอายุในเดือนกรกฎาคม นี้ 

 

สำหรับหน่วยงานเศรษฐกิจที่คาดว่าจะหารือร่วมกัน ประกอบไปด้วย สภาพัฒน์, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงการหารือร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วย

 

“ตอนนี้เห็นแล้วว่ามาตรการดังกล่าว ใกล้จะสิ้นสุดมาตรการลงแล้วดังนั้นคงต้องมาดูว่าจะมีมาตรการอะไรออกมา หรือต่ออายุได้ไหม ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจอะไร เพราะต้องหารือกันอีกหลายครั้ง เบื้องต้นคงนัดคุยกันในสัปดาห์หน้า หลังจากที่ได้เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นกับคณะของนายกรัฐมนตรีแล้ว” นายดนุชา ระบุ

 

ส่วนการดำเนินมาตรการต่าง ๆ จะมีวงเงินเพียงพอหรือไม่นั้น นายดนุชา ยอมรับว่า ตอนนี้แหล่งเงินที่เตรียมไว้รองรับมีทั้งเงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาท ซึ่งยังเหลือวงเงินอยู่ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท และเงินงบกลาง แต่ก็ต้องมาดูก่อนว่ามาตรการที่จะออกมาเป็นมาตรการอะไร และบางมาตรการก็อาจไม่ต้องใช้เงินก็ได้

เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า สศช.ได้ประเมินเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง จะปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว แต่ก็อาจต้องดูมาตรการเพิ่มเติมไปช่วย เช่น การสนับสนุนถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องและเป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจในระยะต่อไป 

 

“ปัญหาของประเทศไทยที่กำลังเจอตอนนี้ คือ เรื่องค่าครองชีพสูง จากเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นมาตรการที่จะออกมาคงเน้นต้องช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมากขึ้น โดยหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจทั้งหมดต้องมาคุยในรายละเอียดกัน และหาข้อสรุปออกมาเพราะตอนนี้ยังมีเวลาอยู่” เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าว

สำหรับมาตรการลดค่าครองชีพเดิม ที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบไปด้วย

  • ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน ได้รับการเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มเป็น 100 บาท/ 3 เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
  • ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1,500 คน ได้รับส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
  • ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 1.57 แสนคน ได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 5 บาท/ลิตร จำนวน 50 ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน
  • ตรึงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กก.
  • ผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ได้ซื้อก๊าซในราคา 13.62 บาท/กก. ในวงเงิน 10,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
  • ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไว้ที่ 30 บาท/ลิตร
  • ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย จำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน ได้รับส่วนลดค่า FT เป็นเวลา 4 เดือน
  • นายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน ได้รับการลดเงินนำส่งจาก 5% เหลือ 1% งวดค่าจ้าง พ.ค. – ก.ค. 
  • ผู้ประกันตนในมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน ได้ลดเงินนำส่งจาก 9% เหลือ 1.9% หรือจาก 432 บาทต่อเดือน ลดเหลือ จำนวน 91 บาทต่อเดือน ในงวดค่าจ้าง เดือนพ.ค. – ก.ค. 2565
  • เกษตรกร 9 ล้านคน จะได้รับประโยขน์จากการแก้ปัญหาปุ๋ยแพงและปุ๋ยขาด และแก้ปัญหาอาหารสัตว์

 

ระยะเวลาการดำเนินโครงการ

  • เมษายน – กรกฎาคม 2565

 

สำหรับการช่วยเหลือผ่านมาตรการลดค่าครองชีพดังกล่าว ครอบคลุมกลุ่มที่ได้ประโยชน์ทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มครัวเรือนทั่วไป 
  • กลุ่มนายจ้างและผู้ประกันตน
  • กลุ่มผู้มีรายได้น้อย
  • กลุ่มขนส่งและโดยสารสาธารณะ